นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้แต่ไม่มาก ซึ่งภาพจะเป็นลักษณะของการแกว่งตัวซึม ๆ ในกรอบมากกว่า เนื่องจากมองว่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ซื้อไปมากแล้ว และซื้อได้แรงกว่าทุกปีจากการมองว่าทิศทางตลาดฯในปีหน้าจะดี อีกทั้งดัชนีฯก็ได้ทำ New High ในรอบ 24 ปี ซึ่งปกติกองทุนก็จะไม่ซื้อไล่ราคา
นอกจากนี้ มองว่ามีโอกาสที่จะมีแรงขายออกมามากขึ้น จากบัญชีซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ ที่ในส่วนนี้จะมีส่วนของพอร์ตโบรกเกอร์ เมื่อใกล้สิ้นปีโดยปกติมักจะเคลียร์ของขายเอาส่วนแบ่งกำไร อีกส่วนเป็นส่วนของ Block Trade ที่มีความผันผวนอยู่แล้ว ดังนั้นในระยะกลางจนถึงสิ้นปีมองว่าดัชนีฯคงจะแกว่งในกรอบ 1,715-1,740 จุด กลยุทธ์การลงทุนมองหุ้นที่จะถูกเก็บเป็นหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง, กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ทรงตัว แม้ว่าร่างกฏหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯจะผ่านการโหวตเสียงแล้ว แต่ดูเหมือนว่ายังต้องโหวตเสียงอีกครั้งหลังจากที่มีบางส่วนไม่สอดคล้องกัน
พร้อมให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,725-1,735 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (19 ธ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,754.75 จุด ลดลง 37.45 จุด (-0.15%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,681.47 จุด ลดลง 8.69 จุด (-0.32%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,963.85 จุด ลดลง 30.91 จุด (-0.44%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 33.07 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 0.20 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 54.37 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 3.02 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 4.71 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 0.77 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.03 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (19 ธ.ค.60) 1,732.31 จุด เพิ่มขึ้น 8.60 จุด (+0.50%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,761.94 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.61 ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (19 ธ.ค.60) ปิดที่ระดับ 57.46 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ หรือ 0.5%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (19 ธ.ค.60) ที่ 6.90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.74 รอติดตามประชุมกนง.-จับตาการลงมติมาตรการภาษีสหรัฐฯขั้นสุดท้าย
- กมธ.เคาะอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปรับลดลง 40% จากร่างเดิมที่ครม.อนุมัติ หวังลดกระแสคัดค้าน ขณะอัตราจัดเก็บจริงต่ำกว่าเกณฑ์ พร้อมยกเว้นภาษีบ้านหลังหลักมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท ส่วนที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยกเว้นภาษีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท คาดบังคับใช้ ปี 2562 ด้านคลังเผยรายได้ภาษีจาก เกณฑ์ใหม่ส่อลดเหลือ 3.7 หมื่นล้านบาท จากร่างเดิม 6-7 หมื่นล้านบาท
- ครม.อนุมัติรถไฟทางคู่ 5 สายแบ่ง 13 สัญญา พร้อมปรับกรอบวงเงินจาก 1.01 แสนล้านบาท เหลือ 9.89 หมื่นล้านบาท ร.ฟ.ท.เตรียมเซ็นผู้รับเหมา 9 สัญญาใน 28 ธ.ค.นี้ เร่งเบิกจ่าย 15% ส่วนทางยกระดับผ่านเมืองโคราชคาดปรับแบบใหม่ 6-8 เดือน พร้อมเร่งชงครม. ทางคู่เฟส 2 และสายใหม่รวม 9 เส้นทาง ตั้งแต่ก.พ. 61 ขณะที่ครม.รับทราบเริ่มก่อสร้างรถไฟไทย-จีน 3.5 กม.
- หอการค้า เผยปี 2561 ประเทศไทยจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24.62% และคิดเป็นสัดส่วน 19.42% ของจีดีพีประเทศ ที่มีมูลค่า 16.26 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี ปัจจัยที่สนับสนุนให้เติบโตจากนโยบายของรัฐเรื่องอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน นโยบาย 4.0 การลงทุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
- ที่ประชุม คสช.เห็นชอบในหลักการให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาการจัดซื้อยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อยางไปทำถนนได้ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณการซื้อให้ได้ 2 แสนตัน
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2561 ที่ 2.5% บวก/ลบ 1.5% หรืออยู่ในกรอบ 1-4% ถือเป็นเป้าหมายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นระดับที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน
*หุ้นเด่นวันนี้
- CPT (บมจ.ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์) เทรดวันนี้วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สังกัดหมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร โดยราคาขาย IPO 2.30 บาท/หุ้น บล.โกลเบล็ก ระบุว่า ราคา IPO คิดเป็น Current PER ที่ 14.12 เท่า เทียบกับบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกันมีค่า PER เท่ากับ 12.85 เท่า
บมจ.ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ ผู้จำหน่ายอุปกรณ์และระบบควบคุมไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงให้บริการติดตั้งและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย ซึ่งแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 ส่วนคือ 1.ธุรกิจขายตู้ไฟฟ้า (Panel) ได้แก่ ระบบควบคุมเครื่องจักรและตู้ไฟฟ้าแรงดันต่ำ คิดเป็น 56.7% ของรายได้ 2.ธุรกิจขายสินค้าสำเร็จรูปประเภทหน่วย (Unit) ในสัดส่วน 22.3% 3.ธุรกิจให้บริการรับเหมาและติดตั้งสายฟ้า สัดส่วน 18.1% และ 4.ธุรกิจให้บริการและซ่อมแซม คิดเป็น 2.5% ผลประกอบการงวด 9M60 รายได้หลัก 762.4 ล้านบาท ลดลง 2.9% YoY แต่กำไรสุทธินั้นเพิ่มขึ้นจาก 52.0 ล้านบาท เป็น 85.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 64.5% YoYโดยมีเหตุผลหลักเกิดจากสัดส่วนรายได้มาจากการขายมากขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่มาร์จินสูงกว่างานบริการ
- COMAN (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 9 บาท ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตในปีหน้า จากการรับรู้กำไรของซินเนเจอร์ผู้นำซอฟแวร์ร้านอาหารเต็มปี และการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง เพื่อขึ้นแท่นเป็นผู้นำซอฟแวร์ด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ ความกังวลด้านการตั้งด้อยค่าของ MSL ผ่อนคลายลง โดยคาดว่าจะไม่เป็นภาระต่องบรวมของ COMAN ในปี 2561-2562 สะท้อนว่าผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดในปีนี้ที่ -34% Y-Y ไปแล้ว โดยคาดว่าจะกลับมา +92% Y-Y และ +20% Y-Y ในปี 2561-2562
- STEC (ไอร่า) เป้า 27.50 บาท คาดในปี 60 มูลค่างานใหม่ที่ STEC ได้รับ มีมูลค่ารวมสูงถึง 74,815 ล้านบาท (รวมโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง ที่คาดลงนามในวันที่ 28/12/60 นี้) และทำให้ Backlog เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์คาดเพียงพอต่อการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ปีข้างหน้า แม้ไม่มีงานใหม่เข้ามา พร้อมคาดรายได้ในปี 61 เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยคาด 2H/61 ดีกว่า 1H/61 จากความคืบหน้าของงานก่อสร้างงานใหม่ที่รับเข้าในปี 60 เช่น สายสีส้ม สีเหลือง สีชมพู และโครงการรถไฟทางคู่ เป็นต้น คาดกำไรสุทธิปี 61 ที่ 1,186 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%จากประมาณการปี 60 และยังมีโอกาสในการรับงานเพิ่มจากแผนการเปิดประมูลโครงการของภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทาง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และทางด่วนพระราม 3 ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก เป็นต้น