บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ หลังจากที่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 บริษัทฯ ได้ประกาศผลชนะการประมูลซื้อหุ้นสามัญของ Saigon Beer - Alcohol - Beverage Joint Stock Corporation (“Sabeco") ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ในสัดส่วนร้อยละ 53.59
ThaiBev ผ่าน บริษัท เวียดนาม เบฟเวอเรจ จำกัด ซึ่ง ThaiBev ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 49 เป็นผู้ชนะการประมูลซื้อหุ้นสามัญของ Sabeco โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 110 ล้านล้านดองเวียดนาม หรือประมาณ 1.56 แสนล้านบาท ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2560 โดยมีแหล่งเงินทุนมาจากการเพิ่มทุนและเงินให้กู้ยืมจาก ThaiBev ซึ่ง ThaiBev ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินหลายแห่ง
ฟิทช์ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบในระหว่างรอการพิจารณาแผนการดำเนินงานและแผนการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อหุ้น Sabeco ซึ่งจะใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเป็นหลัก ฟิทช์คาดว่าจะพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทฯ และยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบเมื่อรายการดังกล่าวเสร็จสิ้น และฟิทช์มีข้อมูลเพียงพอสำหรับประเมินความเสี่ยงจากอัตราส่วนหนี้สินที่น่าจะสูงขึ้นของบริษัทฯ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากการกระจายธุรกิจไปยังประเทศเมียนมาและเวียดนาม โดยผลกระทบในทางลบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทฯ อาจจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นจากการที่ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ที่ดีขึ้น
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ประกอบด้วย อัตราส่วนหนี้สินที่สูง – จากการประมาณการเบื้องต้น ฟิทช์คาดว่าการลงทุนของ ThaiBev ใน Sabeco อาจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 4 เท่าได้ในช่วงสี่ปีข้างหน้า จาก 1.2 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 โดยอัตราส่วนในระดับดังกล่าวถือว่าค่อนข้างสูงสำหรับบริษัทฯ ที่มีอันดับเครดิตในช่วง ‘BBB’ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทฯ จะมีแผนในการลดอัตราส่วนหนี้สิน โดย บริษัทฯ เคยแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ มีความสามารถและความตั้งใจที่จะรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave, Limited ในปี 2555
การขยายธุรกิจภายในภูมิภาค – ฟิทช์มองว่าการที่ ThaiBev ขยายธุรกิจไปธุรกิจสุราในประเทศเมียนมา และธุรกิจเบียร์ในประเทศเวียดนามจะช่วยลดการกระจุกตัวของแหล่งที่มาของรายได้จากของธุรกิจในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในการประเมินกระแสเงินสดที่ ThaiBev จะได้รับจาก Sabeco ฟิทช์ต้องรอความชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกันระหว่าง Sabeco และ ThaiBev
ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย – อันดับเครดิตของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายสุรา และร้อยละ 40 ของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในประเทศ ในปี 2559
ฟิทช์คาดว่า ThaiBev จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ได้ในช่วงสามปีข้างหน้า โดยได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งทั้งในด้านขนาดธุรกิจและเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดของประเทศไทย มีส่วนในการสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ประกอบการรายใหม่ ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้ ThaiBev สามารถรักษา EBITDA Margin ไว้ได้ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 50 สำหรับกลุ่มธุรกิจสุราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ EBITDA Margin ของกลุ่มธุรกิจอื่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ EBITDA Margin โดยรวมของบริษัทฯ อยู่ในระดับร้อยละ 30-35 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต
เครือข่ายการจัดจำหน่ายในประเทศที่แข็งแกร่ง – เครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศที่แข็งแกร่งของ ThaiBev น่าจะยังคงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญให้แก่บริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้ประกอบการรายใหม่ บริษัทฯ สามารถที่จะบริหารเครือข่ายการจัดจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรถขนส่งจำนวน 7,000 คัน และมีจุดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 400,000 จุดทั่วประเทศ โดยสามารถใช้ร่วมกันได้กับเครื่องดื่มทุกชนิดในกลุ่มของบริษัทฯ ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ในประเทศไทยมีลักษณะกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมยังคงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีสัดส่วนการจำหน่ายสูงที่สุด ดังนั้นการเข้าถึงตลาดทั่วประเทศจึงจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ยาวนาน เครือข่ายที่กว้างขวาง และมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูง
รายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง – รายได้และกำไรของ ThaiBev มีความผันผวนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ การขายสินค้าที่หลากหลาย ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และการมีสินค้าหลายระดับราคา มีส่วนช่วยให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในการรองรับการปรับเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภคของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ หรือสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา ส่วนธุรกิจอาหารของ ThaiBev ก็มีรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอเช่นกัน แม้ว่าจะมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5 ของรายได้รวมของบริษัทฯ
ทั้งนี้ การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป อันดับเครดิตของ ThaiBev ที่ระดับ ‘BBB’ สะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่มีลักษณะเฉพาะ โดยมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่สูงมากเป็นพิเศษ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในธุรกิจสุราในประเทศที่มั่นคง และมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ จุดแข็งเหล่านี้สามารถช่วยชดเชยข้อจำกัดในด้านการกระจุกตัวของรายได้และสินค้าจากภายในประเทศเป็นหลัก เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตที่ ‘BBB’ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ผลิตเหล่านี้จะมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ในหลากหลายประเทศ และมีแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ดังนั้น สถานะในการแข่งขันที่มีลักษณะเฉพาะและการมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำของ ThaiBev จึงสามารถชดเชยข้อจำกัดด้านขนาดและการกระจุกตัวของรายได้เพียงในประเทศ ทำให้ ThaiBev มีอันดับเครดิตที่เท่ากับ Anheuser Busch InBev NV/SA (อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Carlsberg Breweries A/S (อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า Pernod Ricard S.A. (อันดับเครดิต BBB- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เมื่อเปรียบเทียบกับ Becle, S.A. de C.V. (อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) Becle มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า ThaiBev แต่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า เนื่องจาก Becle มี กระจายตัวของรายได้ที่ดีจากการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทเตกีล่าในตลาดทั่วโลก และมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
อัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev อาจปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในช่วง ‘BBB’ จากการเข้าซื้อกิจการ Sabeco ซึ่งเป็นเหตุผลให้ฟิทช์ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้จากธุรกิจเดิมในประเทศไทยเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 5 ในปีงบการเงิน 2561
- EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต) ในปีงบการเงิน 2561-2562 ยังคงอยู่ในระดับร้อยละ 54-55 สำหรับธุรกิจสุรา; ร้อยละ 20-23 สำหรับธุรกิจเบียร์; ร้อยละ 9-10 สำหรับธุรกิจอาหาร ในขณะที่ EBITDA margin สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงศูนย์
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 4-5 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2561-2562 (ไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ)
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ที่ระดับร้อยละ 60 – 65
- การเข้าซื้อกิจการ Sabeco เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งประมาณการปัจจุบัน ฟิทช์ได้รวมผลประกอบการของ Sabeco เข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้น
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทฯ หลังจากการเข้าซื้อหุ้น Sabeco ได้ หากฟิทช์พิจารณาแล้วเห็นว่าอัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev อยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องต่ออันดับเครดิต ณ ปัจจุบัน
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์อาจพิจารณาคงอันดับเครดิต หาก ThaiBev ยกเลิกการเข้าซื้อหุ้น Sabeco หรือฟิทช์พิจารณาแล้วเห็นว่า หลังจากการเข้าซื้อหุ้น Sabeco แล้วระดับอัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev ยังคงสอดคล้องต่ออันดับเครดิต ณ ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาประกอบกับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
- ฟิทช์อาจพิจารณาคงอันดับเครดิต และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ หากฟิทช์พิจารณาแล้วเห็นว่า หลังจากการเข้าซื้อหุ้น Sabeco แล้วระดับอัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev ยังคงสอดคล้องต่ออันดับเครดิต ณ ปัจจุบัน แต่ยังคงมีความเสี่ยงในการลดอัตราส่วนหนี้สินในอนาคต
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นเดือนกันยายน 2560 จำนวน 3.1 หมื่นล้านบาท โดยสภาพคล่องของ ThaiBev ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 9.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 กระแสเงินสดสุทธิ 7-8 พันล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจากธนาคาร เนื่องจาก บริษัทฯ มีความน่าเชื่อถือและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินในประเทศ