นิวเจนเนอเรชั่น บมจ.แพรนด้า จิวเวลรี่ (PRANDA) วางโมเดลธุรกิจเดินหน้าพลิกฟื้นกิจการมุ่งเทิร์นอะราวด์กลับมามีกำไรจากการดำเนินงานหลังจากลดผลขาดทุนลงมาได้อย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้ารายได้ปี 61 เติบโตก้าวกระโดด 20% ตามการฟื้นตัวของตลาดส่งออกที่เป็นรายได้หลัก และเชื่อว่าจะรับผลดีจากการจัดพอร์ตลูกค้าใหม่ พร้อมเตรียมปรับโครงสร้างบริษัทในเครือตัดธุรกิจที่ไม่สร้างกำไร ขณะที่การบุ๊ครายได้จากการขายที่ดินราว 400 ล้านบาทเชื่อว่าจะทำให้บริษัทกลับมีกำไรสุทธิในปีหน้า และการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ 500 ล้านบาทให้กับกองทุนต่างประเทศช่วยสร้างกระแสงเงินสดทดแทนการกู้เงินจากสถาบันการเงิน
นายชนัตถ์ สรไกรกิติกูล ประธานกรรมการการเงินและบริหารความเสี่ยง PRANDA กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการปรับการบริหารจัดการเพื่อให้กระบวนการผลิตกลับสู่ปกติ หลังจากปี 58 บริษัทได้รับผลกระทบจากลูกค้ารายสำคัญในสหรัฐและเยอรมนีประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ยอดขายลดลงไปอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทพยายามเพิ่มยอดขายด้วยการหาลูกค้าใหม่เพื่อป้อนงานให้กับโรงงานที่มีอยู่ 3 แห่ง คือ ในไทย 2 แห่ง และเวียดนามอีก 1 แห่ง ให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการผลิตสินค้าให้กับลูกค้ารายใหม่ในลักษณะการรับจ้างผลิตที่เป็นรายได้หลักของบริษัท ต้องใช้เวลาเตรียมการตั้งแต่การร่วมกันพัฒนาสินค้า ออกแบบ ไปจนถึงขั้นตอนการผลิต ซึ่งแต่ละรายใช้เวลาราว 9 เดือนกว่าจะสามารถผลิตสินค้าล็อตแรกออกมาได้ จึงทำให้เห็นผลจากการได้ลูกค้าใหม่เข้ามาค่อนข้างช้า ดังนั้น บริษัทจึงประสบภาวะขาดทุนค่อนข้างมากในช่วงดังกล่าว
แต่เมื่อมีการผลิตสินค้าออกมาได้แล้ว บริษัทจึงมีผลประกอบการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทั้งปีนี้จะยังมีผลขาดทุนอยู่ แต่ลดลงมากจากปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 283.26 ล้านบาท โดยงวด 9 เดือนแรกของปี 60 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 127.72 ล้านบาท และเชื่อว่าปีหน้าผลประกอบการจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายชนัตถ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 61 จะเติบโตราว 20% จากปีนี้ที่เติบโต 12% มาที่ราว 3 พันล้านบาท ส่วนผลประกอบการจะพลิกมามีกำไรจากการดำเนินงานได้หรือไม่ ยังไม่สามารถคาดเดาได้ชัดเจน แต่บริษัทจะมีการบันทึกรายได้จากการขายที่ดินผืนใหญ่มูลค่าราว 40 ล้านบาทในช่วงต้นปี เขื่อว่าจะส่งผลให้มีโอกาสพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้
อีกทั้งบริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพวงเงิน 500 ล้านบาทให้แก่กองทุน Advance Opportunity แทนการใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยหุ้นกู้แปลงสภาพมีอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี อายุ 3 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน และจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ปรับตัวลดลง ขณะที่บริษัทได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน(วอร์แรนต์) ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อลดผลกระทบต่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นหากมีการแปลงสภาพหุ้นกู้
"ตอนนี้ขาดทุนลดลงแล้ว แต่ทั้งปีก็คงยังมีผลขาดทุนอยู่ แต่ปีหน้าเรามุ่งมั่นจะทำให้เกิดกำไร"นายชนัตถ์ กล่าว
สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ยังเน้นการเพิ่มยอดขายและขยายตลาด เพื่อผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นกลับสู่ระดับเดิมที่ 35% จาก 30% ในปีนี้ โดยบริษัทจะเดินหน้าขยายตลาดเพิ่มเติม หลังจากเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปฟื้นตัวได้ดีขึ้นมากแล้ว เพื่อหาออร์เดอร์เข้ามาป้อนให้โรงงานผลิตมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นการบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากค่าแรงงานถือเป็นต้นทุนสำคัญของบริษัท ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบมีความสำคัญเป็นอันดับรองลงมา
ปัจจุบัน บริษัทลดการพึ่งพาลูกค้ารายใดรายหนึ่งเป็นหลัก โดยกระจายตลาดส่งออกมาเป็น สหรัฐ 35% ยุโรป 35% และเอเชีย 30% ซึ่งในอนาคตมีโอกาสจะขยายตลาดในเอเชียเพิ่มเติม เนื่องจากบริษัทมีฐานการค้าปลีกที่แข็งแรง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ดูไบ โอมาน
ส่วนตลาดในประเทศในปีนี้ยังสามารถเติบโตได้ราว 6% แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ก็ยอมรับว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ในปีหน้าบริษัทคาดว่าตลาดในประเทศจะฟื้นตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากงานรับจ้างผลิตราว 45% ค้าปลีก 29% และที่เหลือเป็นการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย
นายชนัตถ์ กล่าวอีกว่า บริษัทจะชะลอการขยายสาขาใหม่ของจุดค้าปลีกพรีมาโกลด์ แต่จะเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงานและจุดขายเพื่อสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันบริษัทมีอายุของสต็อกสินค้าในกลุ่มค้าปลีกเฉลี่ยราว 400 วัน จึงจำเป็นต้องลดระยะเวลาลง
โดยในช่วงไตรมาส 1-ไตรมาส 2/61 บริษัทจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ใหม่ เพื่อทำตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างจริงจัง และอีกส่วนหนึ่งจะใช้เชื่อมโยงให้จุดขายมีความคึกคักมากขึ้น เข่น ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ และสามารถไปดูสินค้าจริงได้ที่หน้าร้าน นอกจากนั้นจะเพิ่มการทำกิจกรรมการตลาดร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น การทำโปรโมชั่นร่วมกับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้สิทธิพิเศษแก่ลูกค้า เป็นต้น
"ผมขอให้ชะลอขยายสาขาไว้ก่อน หันมาดูว่าพนักงานเรานั่งตบยุงวันละกี่ตัว ต้องหากิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมยอดขาย ปีหน้าเราจะมีแอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ที่รองรับการทำอีคอมเมิร์ซอย่างจริงจัง เพราะตอนนี้เว็บไซต์เราเหมือนแค่แคทตาล็อกเท่านั้น ไม่มี story ที่จูงใจให้เกิดยอดขาย"นายชนัตถ์ กล่าว