นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า โครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เครื่องหยอดเหรียญ (Cash Box) วงเงิน 1,655 ล้านบาทนั้น ภายหลังจากที่มีข้อร้องเรียนว่าเครื่องเก็บค่าโดยสารหยอดเหรียญ บนรถโดยสารที่ติดตั้งไปแล้วนั้น พบปัญหาไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนมีบางส่วนไม่สามารถใช้งานได้เลย ดังนั้น ขสมก.เตรียมทำการบอกเลิกสัญญาการติดตั้ง Cash Box ให้ติดตั้งแค่ไม่เกิน 800 คัน แต่ยังคงสัญญาในส่วนของการติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) ไว้ตามเดิม 2,600 คัน
เนื่องจาก ขสมก.เห็นว่าเครื่องหยอดเหรียญไม่มีความจำเป็นในระยะยาวเพราะรัฐบาลกำลังผลักดันให้ระบบรถเมล์ในอนาคตเป็นแบบไร้เงินสด (Cashless) ซึ่งจะให้ผู้โดยสารชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเพียงใบเดียวแบบ E-Ticket เพื่อลดค่าใช้จ่ายพนักงานด้านกระเป๋ารถเมล์ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ขสมก.สามารถทำได้เพราะในสัญญาระบุว่า ขสมก.ขอบอกเลิกหรือแก้ไขสัญญาบางส่วนได้ แต่ต้องเรียกเอกชนมาเจรจากันว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร แต่ทั้งนี้การบอกเลิกสัญญาติดตั้งระบบดังกล่าวจะไม่ถือว่าเอกชนไม่ปฏิบัติตามสัญญาและต้องถูกตัดสิทธิ์จากโครงการจัดหาจัดหารถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) แน่นอนเพราะเป็นคนละโครงการกัน
ทั้งนี้ บมจ.ช ทวี (CHO) เป็นผู้รับงานโครงการติดตั้งระบบ E-Ticket พร้อมเครื่องเก็บค่าโดยสารหยอดเหรียญ (Cash Box) บนรถเมล์ 2,600 คัน ขณะเดียวกันกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ซึ่งประกอบด้วย บริษัท และบมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) ยังได้งานจัดหารถเมล์ NGV จากขสมก.ด้วย
ส่วนประเด็นหนี้สินจำนวนนับแสนล้านบาทของขสมก.นั้น นายณัฐชาติ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ขสมก.ได้จัดซื้อรถเมล์ใหม่ พร้อมลดค่าใช้จ่ายในองค์กรตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาลดต้นทุนแล้ว คาดว่าภายใน 3-5 ปี จะเห็นขสมก.กลับมามีรายได้เป็นบวกและมีกำไรอีกครั้ง จากนั้นภายใน 10 ปีตั้งเป้าหมายว่าขสมก.จะสามารถปลดหนี้แสนล้านบาทได้ เนื่องจากหนี้สินส่วนใหญ่ขององค์กรราว 84% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมดนั้นเป็นหนี้สินที่เกิดจากนโยบายรัฐบาล ดังนั้น จึงเตรียมเสนอให้รัฐบาลรับภาระหนี้ส่วนใหญ่ไปเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับขสมก.ในการดำเนินธุรกิจเป็นผู้ประกอบการเต็มตัวในอนาคต