นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) คาดว่าในปี 61 บริษัทจะได้งานประมาณ 3 แสนล้านบาท หรือราว 30% ของงานภาครัฐที่คาดจะออกประมูลกว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 60 บริษัทได้งานใหม่เข้ามา 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งรวมงานในพื้นที่เหมืองแม่เมาะที่เพิ่งชนะประมูล มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน มี.ค.61 โดยงานใหม่ปีนี้ได้มากกว่าเป้าหมายที่คาดไว้จะได้งานใหม่ 8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะออกประมูลในปี 61 ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง มูลค่าโครงการกว่า 4 แสนล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน มูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยองพร้อมเชื่อม 3 สนามบิน มุลค่าราว 4.5-5 แสนล้านบาท ซึ่ง ITD มีความสนใจเข้าร่วมประมูล โดยรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง ที่ภาครัฐจะให้ลงทุนรูปแบบ PPP นั้น ทางบริษัทได้จับมือพันธมิตรจากจีนเข้าร่วมประมูลด้วย
"งานของภาครัฐปีหน้าจะมากกว่าปีนี้ และก็เป็นงานใหญ่ที่อิตาเลียนไทยฯมีความถนัดและเชี่ยวชาญ เราก็คาดว่าจะได้งานประมาณ 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท" นายเปรมชัย กล่าว
นอกจากนี้บริษัทเตรียมประมูลงานในต่างประเทศ โดยในไตรมาส 1/61 จะเข้าประมูลงานทางด่วนและมอเตอร์เวย์ในเมืองดักการ์ ประเทศบังคลาเทศ มูลค่างานราว 1 แสนล้านบาท และ งานก่อสร้างสนามบินดักการ์ มูลค่างาน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขนาดใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการถไฟฟ้าใต้ดิน ในประเทศเวียดนาม มูลค่างาน 1 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมาเพิ่งลงนามและก่อสร้างโครงการทางด่วนยกระดับของบังคลาเทศ มูลค่างาน 5 หมื่นล้านบาท ความก้าวหน้างานคืบหน้าไป 8% อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเน้นงานก่อสร้างในประเทศเป็นหลักก่อนงานในต่างประเทศ
ส่วนรายได้ปีนี้คาดว่าจะทำได้ระดับ 6 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ 5 หมื่นล้านบาท และในปี 61 คาดจะมีรายได้แตะ 1 แสนล้านบาท หลังจะทยอยรับรู้รายได้จากปริมาณงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 4 ปี (ปี 61-64) โดยเป็นงานในประทศ และต่างประเทศ สัดส่วน 50:50
ขณะเดียวกันอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้คาดว่าจะปรับขึ้นมา 10% จาก 7-8% ในปีก่อน และในปีหน้าจะทำได้ไม่น้อยกว่า 10% เพราะงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นงานที่มีมาร์จิ้นสูง
*มั่นใจโครงการทวายเริ่มเดินหน้า Q2/61 ลงทุน 1 พันล้านเหรียญ
สำหรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในประเทศเมียนมานั้น นายเปรมชัย กล่าวว่า จากการที่ตนได้ติดตามการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย- เมียนมา (JCC) เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมีความคืบหน้าต่อเนื่อง ขณะนี้รอรัฐบาลเมียนมาอนุมัติระยะเวลาเช่าที่ดินให้กับ ITD ใหม่ จากเดิมได้ระยะเวลาเช่า 75 ปี รัฐบาลเมียนมาก็ต้องอนุมัติรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ (EHIA) ซึ่งได้จัดประชาพิจารณ์รอบสุดท้ายแล้ว และด้านเทคนิคที่รัฐบาลเมียนมากำลังจะจ้างที่ปรึกษา 2 แห่งในช่วงต้นปี 61 เพื่อมาตรวจแผนงานและงานออกแบบโครงการที่ ITD ได้ทำและนำเสนอ คือ นิปปอนโอเอะ และ โอเรกอน เพื่อมาพิจารณางานโครงสร้างพื้นฐาน และ โรงไฟฟ้าในพื้นที่โครงการทวายซึ่งให้เวลาที่ปรึกษา 3 เดือน
"เรื่องทวายเราได้ติดตามการประชุมกับเขาทุกเดือน ก็ก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อย ๆ ตอนนี้ภาระที่เราต้องทำหมดแล้ว ... ก็คาดว่าน่าจะใช้เวลา 3-4 เดือน ผมก็มั่นใจว่าในไตรมาส 2 ปีหน้าจะเริ่มเดินหน้าโครงการได้ "นายเปรมชัย กล่าว
ที่ผ่านมา ITD ได้ใช้เงินลงทุน 7-8 พันล้านบาทในโครงการทวายสำหรับระยะแรก (DSEZ Initial Phase) พื้นที่ 27 ตร.กม. หากดำเนินโครงการต่อก็จะนำส่วนนี้มาบันทึกเป็นต้นทุนของโครงการ ทั้งนี้ การชะลอของโครงการทวาย ส่งผลกระทบต่อ ITD มาก โดยแผนเดิมโครงการนี้จะเริ่มได้ตั้งแต่ มิ.ย. 59 แต่ก็เงียบสนิทไปเกือบ 1 ปี เพราะเปลี่ยนรัฐบาล กว่าจะตั้งคณะกรรมการก็ใช้เวลา และรัฐบาลเมียนมาเพิ่งเริ่มทำงานโครงการนี้มา 6 เดือนแล้ว
นายเปรมชัย กล่าวว่า ได้เตรียมเงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อจะพัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าขนาด 400 เมกะวัตต์ และสาธารณูปโภคอื่น โดยจะมาจากส่วนผู้ถือหุ้น 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย ITD และ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ลงทุนฝ่ายละครึ่ง หรือ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และที่เหลือ เป็นเงินกู้ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้จะพัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมจำนวนพื้นที่ขาย 13,000 ไร่ ในระยะเวลา 10 ปี และ ITD ร่วมลงทุนกับบมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) เริ่มต้นกำลังผลิต 400 เมกะวัตต์
*เหมืองโปแตชคาดเดินหน้าอย่างเร็ว 6 เดือน เล็งลงทุน 1 พันล้านเหรียญ
สำหรับโครงการเหมืองโปแตช ที่จ.อุดรธานี นายเปรมชัย กล่าวว่า ขณะนี้รอทางการให้ประทานบัตรเหมืองตามพ.รบ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ โดยคาดว่าจะได้รับอย่างเร็วในอีก 6 เดือนนี้ หลังจากที่โครงการล่าช้าไป 7 เดือนแล้ว ขณะที่บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 4-5 พันล้านบาท ทั้งนี้หากได้รับประทานบัตรเหมืองโปแตชจะมีอายุ 30 ปี
นายเปรมชัย กล่าวว่า บริษัทเตรียมเงินลงทุนโครงการนี้ไว้ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาใช้ในการผลิตระยะแรก 2 ล้านตัน/ปี โดยมาจากส่วนผู้ถือหุ้น (Equity) จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากเงินกู้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในส่วนผู้ถือหุ้น ปัจจุบัน ITD ถืออยู่ 90% และ กระทรวงการคลังถือ 10% ซึ่ง ITD เตรียมจะขายหุ้นออกไป 20% ให้กับพันธมิตรจีน และจะมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในระยะต่อไปอีกเท่าตัวเป็น 4 ล้านตัน/ปี ใช้เงินลงทุนอีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ