สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบผู้กระทำผิด 4 ราย กรณีเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ต่อประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ (1) บริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด (2) นางสาวอรปภัตร จันทรสาขา (3) บริษัท เลเดอเรอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ (4) นางสาวกันยกร ศุภการค้าเจริญ
ก.ล.ต.ได้รับแจ้งเบาะแสและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า บริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด โดยนางสาวอรปภัตร จันทรสาขา กรรมการผู้มีอำนาจ ชักชวนประชาชนให้ร่วมหุ้นผ่านโซเชียลมีเดีย โดยกำหนดวงเงินขั้นต่ำสำหรับการเข้าร่วมหุ้นที่ 100,000 บาท อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ในระยะเวลา 12 เดือน และมีข้อสัญญาว่าจะทยอยคืนเงินร่วมหุ้นพร้อมผลตอบแทนทุก ๆ 30 วัน จนกว่าจะครบกำหนดสัญญา โดยการตรวจสอบไม่พบบุคคลที่เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด ตามการชักชวน
กรณีบริษัท เลเดอเรอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนางสาวกันยกร ศุภการค้าเจริญ กรรมการผู้มีอำนาจ ชักชวนประชาชนให้ร่วมหุ้นผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมีวงเงินขั้นต่ำสำหรับการเข้าร่วมหุ้นที่ 100,000 บาท และอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนร้อยละ 5-7 ในระยะเวลา 6 เดือน และมีข้อสัญญาว่าจะทยอยคืนเงินร่วมหุ้นพร้อมผลตอบแทนทุก ๆ 30 วัน จนกว่าจะครบกำหนดสัญญา โดยพบบุคคลเข้าร่วมทำสัญญาลงหุ้นตามการชักชวนเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 10 ล้านบาท
การดำเนินการของบริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เลเดอเรอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เข้าข่ายเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ต่อประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 33 และมีระวางโทษตาม 268 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ขณะที่การกระทำของนางสาวอรปภัตร และนางสาวกันยกร ซึ่งเป็นผู้สั่งการหรือกระทำการอันเป็นเหตุให้บริษัทปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวต้องรับโทษตามมาตรา 300 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
ผู้กระทำผิด 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด (2) นางสาวอรปภัตร และ (3) นางสาวกันยกร ยินยอมเปรียบเทียบปรับ คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 500,000 บาท 500,000 บาท และ 1,530,000 บาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี บริษัท เลเดอเรอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ไม่ยินยอมชำระค่าปรับตามคำสั่งคณะกรรมการเปรียบเทียบ ก.ล.ต. จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ทราบเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ในชั้นแรก ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดทั้ง 4 ราย เนื่องจากมีเหตุสงสัยการกระทำดังกล่าวอาจเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และแจ้งข้อเท็จจริงความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ไปยัง บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ต่อมา ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน บก. ปอศ. ว่า การสอบสวนไม่พบว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ดังกล่าว เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 จึงส่งคดีให้ ก.ล.ต. ดำเนินการเปรียบเทียบตามมาตรา 317 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ