นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บมจ.แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าสำหรับงานที่ปรึกษาทางการเงินในการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบริษัทที่ต้องการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จำนวน 6 รายภายในปีนี้
พร้อมกันนั้น บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจในกลุ่ม CLMV โดยใน สปป.ลาว มีแผนจะนำบริษัทเอกชนเข้าเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 2 บริษัท และในกัมพูชา อยู่ระหว่างเตรียมยื่นเอกสารให้ ก.ล.ต.กัมพูชา เพื่อขออนุญาตทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ม.ค.และคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาส 1/61 โดยมีเป้าหมายนำบริษัทกัมพูชาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยแบบ Dual Listing ขณะที่บริษัทมองการขยายไปยังเวียดนามด้วย คาดว่าภายในไตรมาสที่ 1/61 ผู้บริหารจะเดินทางเข้าไปดูโอกาสทางธุรกิจ
นายสมภพ กล่าวว่า บริษัทยังได้ปรับโครงสร้างผู้บริหารของ APM เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยแต่งตั้งนางสาวมธุรส สาราณียะธรรม และนายสุพล ค้าพลอยดี ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และนางสาวณัฐิยา ภัทรกิจจานุรักษ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส เพื่อเข้ามาดูแลรับผิดชอบทีมงานในการบริหารงานทางที่ปรึกษาทางการเงิน เนื่องจากบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจลีสซิ่งในกลาว ในการตั้งบริษัทย่อย เอพีเอ็ม ลาว ลีสซิ่ง เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 60 ทีผ่านมา โดยระยะแรกจะเน้นการปล่อยสินเชื่อรถกระบะ ตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อปีนี้ราว 30-50 ล้านบาท และจะขยายสินเชื่อไปยังรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต่อไป
"ในประเทศไทยคาดว่าปีนี้จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ไม่ต่ำกว่า 6 ราย ขณะที่ระยะยาว 3-5 ปีบริษัทยังคงดำเนินกลยุทธ์ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีช่องทางการขยายตัวอีกมากและมีความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างๆที่พร้อมเข้าไปดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว หรือกัมพูชา นอกเหนือจากประเทศไทยที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยหลักสำคัญของการดำเนินงาน คือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ต้องการให้ผู้ประกอบการบริษัทจดทะเบียนใช้เครื่องมือทางการเงินที่ถูกต้อง และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขณะที่หากบริษัทสามารถดำเนินการขยายธุรกิจได้ครอบคลุม อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแรงผลักดันให้หลายประเทศสามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แบบ Dual Listing หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต" นายสมภพ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนนำธุรกิจลิสซิ่งของ APM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย โดยขณะนี้มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและบัญชี แต่มองว่ายังมี Economy of Scale ไม่ใหญ่พอ โดยบริษัทยังเดินหน้าที่จะขยายธุรกิจลิสซิ่งให้มียอดปล่อยสินเชื่อแตะ 1,000 ล้านบาทก่อน
ด้านนายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM เปิดเผยว่า APM จะนำธุรกิจจัดแสดงงานละผลิตสื่อ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ในไตรมาส 1/61 ส่วน อุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป และ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมแบบครบวงจร จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ในไตรมาส 2/61
นอกจากงานทางด้าน IPO แล้วทาง APM ยังรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินด้านอื่น ๆ ทั้งการออกตราสารทุนและตราสารหนี้ ด้านการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และงานที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) กรณีการได้มาและจัดจำหน่ายไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งยังมีลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างจัดโครงสร้างให้กับธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์และธุรกิจอาหาร เพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ มองว่า ภาพรวมการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นบริษัทเอกชนยังคงให้ความสำคัญในการใช้ตลาดทุนเป็ฯแหล่งระดมทุนเงินเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ เนื่องจากจะมีประโยชน์ทั้งในด้านการเป็นที่ยอมรับในฐานะบริษัทที่มีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล รวมทั้งการลดต้นทุนทางการเงินและสร้างฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง