ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. การบินไทย (THAI) ที่ระดับ “A" โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางการบินของประเทศไทยและประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุด โดยอันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนที่เข้มแข็งและทันการณ์โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีภาระหนี้และต้นทุนในการดำเนินงานที่สูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้และความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย
บริษัทการบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 51% บริษัทเป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียซึ่งให้บริการการบินเต็มรูปแบบและยังให้บริการสายการบินคุณภาพระดับกลางผ่านบริษัทย่อยภายใต้ชื่อ “ไทยสมายล์" ด้วย โดยสายการบิน “ไทยสมายล์" รับผิดชอบให้บริการในเส้นทางการบินระยะสั้นเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนโครงข่ายเส้นทางการบินของบริษัทด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ ณ เดือนธันวาคม 2560 บริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ณ สนามบินปลายทางจำนวน 70 แห่งทั่วโลกด้วยจำนวนเที่ยวบิน 731 เที่ยวต่อสัปดาห์ และให้บริการเส้นทางการบินในประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 11 แห่งด้วยจำนวนเที่ยวบิน 394 เที่ยวต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในสัดส่วน 21.6% ใน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “นกแอร์" ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทยด้วย
เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขยายส่วนแบ่งทางการตลาด บริษัทได้จัดตั้งกลุ่มบริษัทซึ่งเรียกว่า “ไทยกรุ๊ป" ขึ้นในกลางปี 2560 เพื่อบริหารจัดการสายการบิน 3 สาย คือ การบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์ให้ทำงานสอดประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการปรับปรุงเส้นทางการบินให้เชื่อมต่อกันเพื่อสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร ดังนั้น ทั้ง 3 สายการบินจะสามารถให้บริการผู้โดยสารในแต่ละกลุ่มได้อย่างครอบคลุมจากการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
รายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร (Passenger Yield) ของบริษัทในปี 2560 ลดลงจากปัจจัย 2 ประการคือ การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างสายการบินทั้งสายการบินเต็มรูปแบบและสายการบินต้นทุนต่ำ (รวมถึงการยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงหลังจากที่ราคาน้ำมันเครื่องบินลดต่ำลง โดยรายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรลดลงมาอยู่ที่ 2.17 บาทต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับ 2.41 บาทต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 บริษัทได้กลับมาจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงในบางเส้นทางหลังจากต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับดีขึ้นหลังจากที่ได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูป โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารปรับตัวดีขึ้นเป็น 79.8% เทียบกับ 73.4% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารต่อกิโลเมตรเพิ่มขึ้น 15.8% หลังจากที่ได้มีการปรับลดค่าโดยสาร นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าประเทศไทยยังเพิ่มขึ้น 5.1% เป็น 26.1 ล้านคนด้วย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 สัดส่วนทางการตลาดของบริษัทซึ่งวัดจากจำนวนผู้โดยสารยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 22% จาก 21.5% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
การเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนอื่นทำให้อัตราการทำกำไรลดลง โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงเป็น 16.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 จาก 19.8% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 11% นอกจากนี้ บริษัทยังไม่สามารถปรับลดต้นทุนอื่นได้ตามแผน โดยต้นทุนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงต่อที่นั่ง-กิโลเมตร (กม.) อยู่ที่ 1.37 บาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับ 1.35 บาทต่อที่นั่ง-กม. ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในอนาคตการปรับปรุงอัตราการทำกำไรนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและการปรับลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงอ่อนแอ การใช้เงินกู้ยืมสำหรับการลงทุนจำนวนมากและส่วนทุนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการขาดทุนจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 88% เมื่อพิจารณาจากแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่แล้วคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป
สภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 20,365 ล้านบาทในปี 2559 และ 14,934 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับลดลงจาก 11% ในปี 2559 เป็น 9.5% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 3.1 เท่าในระหว่างปี 2559 ถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 สภาพคล่องของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 ประกอบด้วยเงินสดจำนวน 18,625 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 25,580 ล้านบาท โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ระหว่าง 18,000-20,000 ล้านบาทต่อปีซึ่งจะเพียงพอต่อแผนการใช้จ่ายของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทมีภาระที่จะต้องชำระคืนเงินกู้จำนวน 31,335 ล้านบาทและมีภาระเงินกู้ระยะสั้นอีกจำนวน 4,359 ล้านบาท รวมถึงมีงบลงทุนอีกประมาณ 14,000 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาแหล่งเงินสำรองที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และเพื่อใช้รองรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงต่างๆ ในอนาคต
ในระหว่างปี 2561-2563 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตพอประมาณ โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยของน้ำมันเครื่องบินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรล ทั้งนี้ คาดว่าอัตรากำไรของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 20% จากสมมุติฐานที่บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ สภาพคล่องคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยโดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่สูงกว่าระดับ 10% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3 เท่า
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าผลการดำเนินงานของบริษัทการบินไทยจะปรับดีขึ้นตามแผน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราการทำกำไรอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากทริสเรทติ้งเชื่อว่าระดับการสนับสนุนจากรัฐบาลจะลดลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทการบินไทยจะยังไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากทั้งการรวมตัวในการดำเนินธุรกิจร่วมกันภายใต้ “ไทยกรุ๊ป" และการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประสบความสำเร็จ ซึ่งจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรืออัตราส่วนเงินกู้รวมต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ต่ำกว่า 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง