บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เล็งขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชีย เพื่อต่อยอดกำลังผลิตไฟฟ้าในมือให้เพิ่มขึ้น หลังจากแผนงานในปัจจุบันใกล้ทะลุเป้าหมายแรกที่ 200 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 63 แล้ว โดยเบื้องต้นมองโอกาสที่จะลงทุนผลิตไฟฟ้าในมองโกเลียเพิ่มเติม หลังจากร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่นสร้างแห่งแรกที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ต้นปี 62 พร้อมทั้งศึกษาการลงทุนในประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เมียนมา เวียดนาม และ อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่โซลาร์ฟาร์ม แต่ศึกษาไปถึงพลังงานประเภทอื่น ๆ ด้วย
ขณะที่ในประเทศไทย มีแผนขยายการลงทุนหรือการรับงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หลังจากที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 2 แห่งในสมุทรสาคร และราชบุรี โดยมองว่ายังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก รวมทั้งติตดามความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระยะต่อไป ซึ่งบริษัทให้ความสนใจโรงไฟฟ้าพลังงานลมด้วยเช่นกัน
นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าวว่า ตามโครงการของบริษัทขณะนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าทยอยเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงปี 61-63 อีกราว 126.80 เมกะวัตต์ จาก ณ สิ้นปี 60 มีอยู่ 52 เมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้าหลักคือโซลาร์ฟาร์มที่ จ.ลพบุรี ขนาดเสนอขายไฟฟ้าตามสัญญา 40 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับค่า adder ที่ระดับ 6.50 บาท/หน่วยเป็นรายสุดท้าย
ในปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเข้ามา 31.2 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น 2 แห่ง คือ ในฮอกไกโด ที่มีกำหนด COD ในไตรมาส 1/61 และในฟุกุโอกะที่มีกำหนด COD ในครึ่งปีหลัง และโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟสสอง ซึ่งจะ COD ในครึ่งปีหลัง ส่วนปี 62 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้ามาอีก 12 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าร่วมทุนในมองโกเลีย ขณะที่ปี 63 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้ามาอีก 83.6 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นอีก 3 แห่ง
เมื่อโรงไฟฟ้าในมือสามารถ COD ได้ตามแผนงานจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มเป็น 178.8 เมกะวัตต์ เหลืออีกเพียง 21.2 เมกะวัตต์ ก็จะถึงเป้าหมายแรกที่บริษัทตั้งไว้ในระดับ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 63 ซึ่งบริษัทยังมีโครงการที่สนใจและศึกษาจะเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่ความต้องการกระแสไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนประชากร
นายวรุตม์ กล่าวว่า หลังจากเข้าไปร่วมทุนกับกลุ่มชาร์ปของญี่ปุ่นในสัดส่วน 75:25 เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม Khunshight Kundi ในมองโกเลียขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 16.4 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการราว 700 ล้านบาท ตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินแห่งใหม่ในเมืองหลวงของมองโกเลีย ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในเดือน เม.ย.และคาดว่าจะ COD ได้ในไตรมาส 1/62 ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสที่จะลงทุนผลิตไฟฟ้าในมองโกเลียเพิ่มเติม เนื่องจากยังมีความต้องการไฟฟ้าอีกมาก ขณะที่รัฐบาลมองโกเลียเคยให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปถึง 1,000 เมกะวัตต์ แต่ขณะนี้มีผู้ที่สามารถลงทุนผลิตจริงได้เพียง 4 รายเท่านั้น
นอกจากนั้น บริษัทยังเข้าไปสำรวจและศึกษาโอกาสทางธุรกิจในประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ทั้งเมียนมา เวียดนาม และ อินโดนีเซีย รวมไปถึงประเทศอื่นในเอเชียที่ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่มาก เหมือนกรณีของมองโกเลีย โดยเฉพาะในขณะนี้ญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนเนื่องจากได้รับผลพลอยได้เป็นคาร์บอนเครดิตด้วย
"เราไม่ได้มีเงินถุงเงินถังที่จะไปซื้อโครงการที่เขาทำไว้แล้ว และอีกอย่างเท่าที่เจอมายังไม่เห็นโครงการไหนที่ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกลงทุนเองตั้งแต่ต้น ต้องให้ผลตอบแทนคุ้มค่า อย่างมองโกเลีย มีพันธมิตรสนับสนุน และไม่มีปัญหาเงินการโอนรายได้กลับมาในประเทศ แต่อย่างเวียดนามยังมีปัญหาเพราะจ่ายเป็นเงินดองเลยยังไม่น่าสนใจ "นายวรุตม์ กล่าว
ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ บริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปหลังจากเข้าไปลงทุนติดตั้งระบบเพื่อขายไฟฟ้าใน จ.สมุทรสาคร และ จ.ราชบุรี ขนาดแห่งละ 1.3-1.4 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมทั้งลงทุนเอง และรับงานติดตั้งให้กับผู้ประกอบการทั่วไป โดยมองว่ายังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก พร้อมกันนั้นก็ยังรอความชัดเจนของนโยบบายภาครัฐจากการกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ที่จะสรุปในเดือน มี.ค.นี้ โดยมีความสนใจพลังงานทดแทนประเภทอื่น ทั้งชีวมวลและพลังงานลม
บริษัทมีความพร้อมทางด้านการเงินที่จะลงทุนขยายธุรกิจ หลังจากที่ระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ผ่านมา และยังมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 1 เท่า ทำให้มีความสามารถในการกู้เงินได้อีกมาก ซึ่งขณะนี้มีสถาบันการเงินเสนอให้เงินกู้มาบ้างแล้ว แต่บริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แม้ว่าในปีนี้มีแผนจะใช้เงินลงทุนในโครงการต่อเนื่องราว 1 พันล้านบาทก็ตาม
นายวรุตม์ กล่าวอีกว่า บริษัทจะมีกระแสเงินสดทยอยเข้ามาอย่างสม่ำเสมอตามกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยในปี 61 คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นราว 300 ล้านบาท จากปี 60 มีรายได้ราว 800-850 ล้านบาท จากนั้นในปี 63 เมื่อกำลังผลิตไฟฟ้าครบตามแผนงานจะทำให้รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
แต่ในแง่ของกำไร ในปีนี้บริษัทยังจะได้รับผลกระทบจากผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการปล่อยกู้ให้กับบริษัทย่อยเพื่อไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจ เมื่อค่าเงินบาทแข็งทำให้เกิดผลขาดทุนทางบัญชี ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีให้บริษัทลงบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้กระทบกับผลกำไรสุทธิ โดยผลงาน 9 เดือนปี 60 บริษัทมีกำไรสุทธิ 267 ล้านบาท ลดลง 118.9 ล้านบาท หรือลดลง 30.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และผลงานทั้งปีก็ยังจะได้รับผลกระทบดังกล่าว
แต่ในขณะเดียวกันการลงทุนในช่วงค่าเงินบาทแข็งนอกจากจะทำให้ต้นทุนลดลงแล้ว ยังจะส่งผลดีในอนาคตเมื่อรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงที่บาทอ่อนลงจากนี้ นอกเหนือจากการที่บันทึกค่าใช้จ่ายดังกล่าวกลับมาเป็นรายได้ด้วย ซึ่งบริษัทเชื่อว่ากำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"cash flow เราไม่ได้กระทบเลย เป็นแค่บันทึกค่าใช้จ่ายทางบัญชีตามคำแนะนำของ auditor ที่เขา conservative มาก แต่ทุกอย่างจะพิสูจน์กันที่การจ่าย Dividend" นายวรุตม์ กล่าว