บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปลายปี 61 มีโอกาสแตะ 1,900 จุด โดยได้รับปัจจัยบวกหลัก จากนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคและลงทุน วัฎจักรการลงทุนรอบใหม่ที่กำลังเริ่มต้น รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการที่เกี่ยวเนื่องจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ ภาวะเงินฝืดที่กำลังหมดไป พร้อมแนะนำหุ้นที่ได้รับอานิสงส์ คือ กลุ่มแบงก์ ขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์
นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย SCBS กล่าวว่า ในไตรมาส 1/61 น่าจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ โครงการรับจำนำยุ้งฉาง และการแจกสวัสดิการรอบที่ 2 สำหรับผู้ถือบัตรคนจน ประกอบกับ การประกาศใช้ พ.ร.บ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ช่วยกระตุ้นความต้องการลงทุนใหม่ของภาคเอกชนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ
"ตลาดหุ้นไทยมีโมเมนตั้มภาพรวมที่ดี ตามการเติบโตของ GDP ที่ได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยหลักคือ การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน โดยมองว่าการส่งออกเติบโตได้ทั้งทางด้านปริมาณและมูลค่า โดยการบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะโตราว 4% จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ อาทิ การรับประกันยุ้งฉาง และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย(บัตรคนจน) เฟส 2 ส่วนการลงทุนในภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมาเห็นคำอนุญาตเปิดโรงงานเพิ่มขึ้น และการลงทุนส่วนบุคคลฟื้นตัวตามการส่งออก มองว่ามีโมเมนตั้มไปต่อได้"
ด้านปัจจัยต่างประเทศ กฎหมายปฏิรูปภาษีในสหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจที่ดีและการกู้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นด้วย
นอกจากนี้ สินทรัพย์เสี่ยงมีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ หลังภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก และนัยสำคัญต่อผลตอบแทนพันธบัตรโดยรวม เมื่ออิงกับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกล่าสุดโดย IMF พบว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มที่เร่งตัวขึ้น สอดคล้องกับการค่อยๆ ปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยระยะยาวในหลายๆ ตลาดสำคัญ ยกเว้นญี่ปุ่นซึ่งยังใช้นโยบายควบคุมผลตอบแทนพันธบัตร
ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนจับตาดูความเป็นไปได้ที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในปี 61 โดยปัจจัยระยะสั้นที่มากระตุ้น คือ การผ่านแผนปฏิรูปภาษีในสหรัฐฯ แผนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 0.5-0.8% ต่อปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อรวมถึงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายอิสระ กล่าวว่า ดัชนี SET มีโอกาสปรับฐานลงจากแรงขายทำกำไรระหว่างทางหลังปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างแรง โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนในหุ้นบางกลุ่มที่เริ่มตึง แต่การที่ดัชนีปรับตัวลงไม่ถึง 10% มองว่ายังไม่น่ากังวล และเป็นโอกาสเข้าลงทุนของกลุ่มนักลงทุนบางส่วนที่สะสมหุ้นไม่ทันในช่วงก่อนหน้านี้ โดยต้องติดตามการปรับฐานของดัชนีฯว่ามาจากปัจจัยพื้นฐาน หรือปัจจัยทางเทคนิค
สำหรับด้านปัจจัยทางเทคนิคในขณะนี้ มองแนวรับที่ 1,750 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,720 จุด แต่มองว่าตลาดหุ้นไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง น่าจะทำให้มีแรงเข้าซื้อเข้ามาเพิ่มเติมได้ โดยมองว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) จะเติบโตได้ราว 8-10% ได้ไม่ยาก ซึ่งปกติก็จะเติบโตราว 2 เท่าของ GDP ที่ระดับ 5-7%
นายอิสระ กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า ไม่กังวลนักลงทุนต่างชาติที่มีการขายหุ้นใน SET ออกไปบ้าง เนื่องจากดัชนีฯยังปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมาก เพราะสถาบันในประเทศปัจจุบันมีขนาดค่อนข้างใหญ่ อีกทั้งพันธบัตรยังให้ผลตอบแทนไม่มากขณะที่ตลาดทุนยังให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี โดยที่ผ่านมามองว่านักลงทุนต่างชาติ “ตกรถ"
ส่วนภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐมีกฎหมายปฏิรูปภาษี ทำให้มีโมเมนตั้มที่ไม่น่ากังวลนัก และมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่มองว่าค่าเงินดอลลาร์ยังอ่อนตัวลง ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป มองว่าโดยรวมค่อนข้างมีทิศทางที่ดีขึ้น และไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ จึงไม่น่ากังวลนัก ภาคธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่ม Real sector และภาคครัวเรือนมากขึ้น
ตลาดหุ้นญีปุ่น มี Upside ที่น่าจับตา โดยมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพจากการบริโภค (consumption) และตัวเลขในตลาดแรงงานที่ดีขึ้น โดยนาย ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายการทำ Tax Package ให้พนักงานเพื่อลดหย่อนภาษี (Tax Refund) ทำให้การใช้จ่ายภาคประชาชนสูงขึ้น อีกทั้งมองว่าประชาชนญี่ปุ่นมีรายได้จากตลาดหุ้นมากขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของดัชนีฯ
ด้านตลาดหุ้นจีน อาจมีการเติบโตที่ชะลอตัว และยังต้องจับตาดูรัฐบาลจีนประกาศเป้าการเติบโตในเดือน มี.ค.61 ทั้งนี้ยังมีนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจยังคงเป็นหัวใจสำคัญ อาทิ การควบคุมการปล่อยสินเชื่อ การควบคุมการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้มีการลงทุนบ้านราคาถูกมากขึ้น และการควบคุมการลงทุน (Capital control) ที่ต้องรอดูว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
นายอิสระ แนะนำ หุ้น Top Picks ประจำไตรมาส 1/61 ที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะประกาศใช้และวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ของประเทศไทย ประกอบด้วยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มขนส่งที่ค่อยๆ ฟื้นตัวและสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
โดยหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่และการส่งออกที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง อัตราการเติบโตของสินเชื่อน่าจะเร่งขึ้นอีกเท่าตัว ส่วน credit cost น่าจะลดลงในปีหน้า ,บมจ. กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าอย่างมาก, ซื้อขายที่มูลค่า EV (ต่ำเกินไปเหมือนกับจะเลิกกิจการ) ผลตอบแทนพันธบัตรที่จะปรับตัวขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้ราคาหุ้น BLA ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ,
บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) : ราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนการเติบโตของระยะทางเดินรถและ EBITDA ที่จะเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในปี 65 , ธนาคารกรุงไทย (KTB) : เป็นหุ้น laggard ในกลุ่มธนาคาร มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการลงทุนภาครัฐ , บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) : กำไรจะทำจุดต่ำสุดในปี 2560 และฟื้นตัวด้วยอัตราเติบโต 43% ในปี 2561 และ 18% ในปี 2562 เนื่องจากบริษัทหันมารุกตลาดระดับกลางมากขึ้น, บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) : กำไรจะเติบโตที่ CAGR 11% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า และหุ้นซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนถึง 19%