นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาการลงทุนโครงการพลังงานน้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงในเขต สปป.ลาว ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตและเงินลงทุนใกล้เคียงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่มีขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ (MW) และที่มีมูลค่าลงทุนราว 1.5 แสนล้านบาท โดยการเจรจาการลงทุนกับรัฐบาล สปป.ลาว คาดว่าจะมีความชัดเจนในกลางปี 61 หากการเจรจาเสร็จสิ้นจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ใช้เวลาประมาณ 1-1 ปีครึ่งใช้เงินประมาณ 100-200 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 7-8 ปี ส่วนอายุสัมปทานต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา
อย่างไรก็ตาม โครงการพลังงานน้ำที่เจรจาอยู่นี้จะอยู่บนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีลักษณะเดียวกับโครงการพลังงานน้ำไซยะบุรี บริษัทจึงมองว่าการลงทุนโครงการใหม่นี้จะดำเนินโครงการได้ดีกว่าโครงการพลังงานน้ำไซยะบุรี
"เราเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาวในโครงการพลังน้ำ คาดได้ความแน่ชัดภายในกลางปี 61 ขนาดกำลังการผลิตใกล้เคียงโครงการไซยะบุรี มูลค่าลงทุนก็ใกล้เคียงกันไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาท CKP ยังโฟกัสพลังงานน้ำที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง"นายธนวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทมองว่าโครงการพลังงานน้ำในเมียนมาเป็นโครงการที่มีศักยภาพ โดยอาจจะต้องรอ 5-10 ปี เพื่อให้ได้ความชัดเจนนโยบายของรัฐบาลเมียนมา และกฎหมายการลงทุนในเมียนมา
นายธนวัฒน์ ยังกล่าวว่า ในปี 61 นี้ บริษัทจะลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLAR) ขนาดกำลังการผลิต 10-20 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนราว 400 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น Solar Rooftop ที่จะซื้อขายไฟฟ้าเองในกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง (CK) และขายให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี และจะรับรู้รายได้ในปี 62
สำหรับรายได้ในปี 61 คาดว่าจะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นอีกราว 1 พันล้านบาทจากปีก่อน เนื่องจากในปีนี้บริษัทรับรู้รายได้โครงการไฟฟ้าระบบความร้อนร่วมบางปะอิน (Congeneration) แห่งที่ 2 (BIC2) ที่มีกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ รับรู้รายได้ 2 พันล้านบาท/ปี ซึ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อเดือน มิ.ย.60 ส่วนในปี 60 คาดรายได้เติบโต 10% จากปีก่อน 59 ที่มีรายได้รวม 6.4 พันล้านบาท
ขณะที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์จะสามารถ COD ได้ในเดือน ต.ค.62 ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 1,225 เมกะวัตต์ในราคา 2 บาทกว่าต่อหน่วย และอีก 60 เมกะวัตต์ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศลาว (EDL) โดยจะมีรายได้ราว 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท CKP จะรับรู้กำไรตามสัดส่วนถือหุ้น 30% มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปีนับจากวันที่ COD โดยใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี (ปี 55-62) จุดเด่นของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีออกแบบก่อสร้างในรูปแบบฝายน้ำล้น (Run-of-River) ที่มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโครงการ ไม่มีการกักเก็บน้ำ หรือเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ ในปี 62 CKP จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2,160 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 875 เมกะวัตต์ คาดว่ากำไรในปี 63 จะเติบโตชัดเจน
ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตจากโครงการน้ำงึม 2 จำนวน 615 เมกะวัตต์ โครงการไฟฟ้าระบบความร้อนร่วมบางปะอิน (BIC1+BIC2) กำลังผลิต 238 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 22 เมกะวัตต์ จาก 3 แห่ง
สำหรับโครงการไซยะบุรี นายธนวัฒน์ กล่าวว่า งานก่อสร้างคืบหน้าไป 89% โดยในเดือน ม.ค.-พ.ค.นี้จะรื้อยายทำนบดินชั่วคราว ขณะที่เดือน มี.ค.61 กำหนดวันเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าซึ่งบริษัทจะก่อสร้างเสาไฟฟ้าขนาด 500 KV และจึงสายเชื่อมโยงกับเสาไฟฟ้าของกฟผ.ฝั่งไทยให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ และเดือน พ.ค.61 กำหนดวันรับไฟฟ้าจาก กฟผ. ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ต.ค.61 ปล่อยน้ำเข้า และกังหันชุดแรกหมุนโดย 24 พ.ย.ทดสอบเดินเครื่องชุด 1 (Commissioning unit 1) แล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.รับซื้อตามสัญญา และเดือน พ.ย.61-ก.ย.62 ทดสอบเดินเครื่องชุด 1-8 โดยรายได้จาก กฟผ.ช่วงทดสอบจะได้ 75% ของรายได้โดยเครื่องชุด 1-7 มีกำลังการผลิต 175 เมกะวัตต์/ชุด ส่วนชุดที่ 8 มีกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ และ บริษัทได้กำหนดวันที่ 29 ต.ค.62 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)
ขณะเดียวกันในช่วงปี 61-62 จะทยอยลงทุนส่วนของผู้ถือหุ้นอีก 1,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแหล่งเงินจากเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้และกระแสเงินสดในมือ โดยปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E) อยู่ที่ 0.7-0.8 เท่า
สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี มีทุนจดทะเบียน 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย CKP ถือหุ้นอยู่ 30%, บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (NSC) ถือหุ้นอยู่ 25%, รัฐวิสาหกิจลาว ถือหุ้นอยู่ 20%, บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ถือหุ้นอยู่ 12.50%, บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือหุ้นอยู่ 7.5% และบริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) ถือหุ้นอยู่ 5%