นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการ และกรรมการบริหาร บมจ.วินเทจ วิศวกรรม (VTE) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 61 จะดีกว่าปีที่แล้วที่คาดว่าน่าจะยังมีผลขาดทุนสุทธิ หลังในช่วง 9 เดือนแรกของปี 60 ขาดทุนสุทธิ 119.97 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในปีนี้จะมาจากการรับรู้รายได้ของงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ในเมียนมา ที่จะได้รับประมาณ 2.5 พันล้านบาท/ปี และจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น 12% ในบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้ามินบู หลังโครงการเฟสแรกขนาด 50 เมกะวัตต์ (MW) จะแล้วเสร็จในกลางปี 61
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนจะเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้ามินบู เพิ่มเป็นระดับ 25-30% รวมถึงจะดึงพันธมิตรที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไทยเข้าไปถือหุ้นเพิ่มเติมอีก 1 ราย จากปัจจุบันที่มีบริษัทถือหุ้น 12% ,บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ถือหุ้นอยู่ 20% , บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ถือหุ้น 15% และส่วนที่เหลือเป็นการถือหุ้นโดยบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ อีก 53% ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปการเข้าลงทุนเพิ่มในโรงไฟฟ้ามินบูในเร็ว ๆ นี้
"ปีที่แล้วชัดเจนว่าเราก็คงขาดทุน เพราะเป็นการ restructure ส่วนปีนี้จะชัดเจนมากขึ้น เรากำลังพูดถึงเงิน 2.5 พันล้านบาทจากงาน EPC โรงไฟฟ้ามินบูไปอีก 4 ปี และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโรงไฟฟ้ามินบู แต่ปีแรก net income คงจะไม่เยอะมากเพราะมีการจ่ายดอกเบี้ย แต่จะดีขึ้นเรื่อยๆ ปี 62 ก็จะรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรเข้ามาเต็ม ๆ"นายศุภศิษฏ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายศุภศิษฏ์ กล่าวว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว โดยพยายามที่จะลดต้นทุนและตัดขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นเพื่อนำมาชำระคืนหนี้ และเป็นทุนในการดำเนินงาน โดยล่าสุดได้ขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1.267 เมกะวัตต์ ในไทยให้กับบมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) มูลค่า 114.40 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินมาใช้พัฒนาโรงไฟฟ้ามินบู ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างเฟสแรก และเตรียมผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในกลางปี 61
หลังจากนี้บริษัทจะมุ่งโฟกัสที่โรงไฟฟ้ามินบู เป็นหลัก เพื่อพัฒนาโครงการให้ได้ตามแผนที่มีกำลังการผลิตทั้งหมด 220 เมกะวัตต์ ภายใน 4 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อโรงไฟฟ้าเริ่มทยอย COD ในแต่ละเฟสแล้วก็จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสด (cash flow) กลับเข้ามาต่อเนื่อง ก็จะเริ่มมองการลงทุนใหม่อย่างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีกำลังผลิตในมือราว 100 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเฟสแรก 25 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการราว 3 พันล้านบาทได้ก่อน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปี 63 โดยจะเป็นการนำเข้าเศษไม้สับจากอินโดนีเซีย เข้ามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
สำหรับการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในญี่ปุ่น คาดว่าจะมีพันธมิตรอย่าง ECF เข้ามาร่วมทุนด้วย และจะมีพันธมิตรซึ่งเป็นบจ.ในไทยอีก 1 แห่งเข้ามาร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน โดยโครงการที่มีมูลค่า 3 พันล้านบาท จะใช้ส่วนทุนในการดำเนินงานราว 1 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะลงทุนราว 20% ก่อนจะเพิ่มมากกว่า 40% ในอนาคต
"ปัญหาของเราคือ cash flow ปีที่แล้ว ที่เรา over invest ณ ตอนนั้นที่เราลงทุนมันไม่ over แต่ด้วยสถานการณ์ที่มีปัญหา ทำให้เหมือนโครงการ over เราต้องแก้ไขในสิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่ได้สร้างมาเอง เราแค่ต้องจัดการกับมัน ซึ่งวันนี้ผมดจัดการกับมันจบแล้ว จุดเลวร้ายที่สุดผ่านไปแล้ว ธุรกิจของเราจะยังเป็น EPC และ developer โรงไฟฟ้า ซึ่ง ณ ตอนนี้สัดส่วนรายได้ช่วง 4 ปีแรกยังมาจากธุรกิจ EPC เป็นหลัก ส่วนของโรงไฟฟ้าน่าจะเริ่มเข้ามามีผลต่อผลประกอบการในช่วงปี 62-63"นายศุภศิษฏ์ กล่าว