นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยได้ทำการปรับวิธีการกำหนดเป้าหมาย SET INDEX ใหม่โดยใช้วิธี bottom up approach ซึ่งเป็นวิธีที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงราคาเป้าหมายของหุ้นแต่ละบริษัทได้ชัดเจนที่สุด ทำให้ได้เป้าหมาย SET INDEX ใหม่ที่ 1,835 จุด คิดเป็น Forward PER ที่ 16.4 เท่า แม้จะเป็นระดับ Valuation ที่สูง แต่คาดว่าด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยที่จะดีที่สุดในรอบหลายปี สถานการณ์ทางการเมืองที่จะมีความชัดเจนขึ้นหลังการเลือกตั้ง จะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศกลับมาลงทุนในตลาดไทยอีกครั้ง
ในปี 2561 บล.กสิกรไทยประเมินว่าเศรษฐกิจในประเทศจะมีโอกาสขยายตัวถึง 4.0% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องจากปี 2560 ประกอบกับสถานะทางการเงินของประเทศที่แข็งแกร่ง ตัวเลขการเกินดุลบัญชีและการค้าที่คาดว่าจะสูงถึง 7.7% และ 5.8% ของGDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงถึง 45.2% ของ GDP จะเป็นปัจจัยให้กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง และยังเป็นโอกาสที่จะผลักดันให้ SET INDEX สามารถขึ้นไปทดสอบที่กรอบบนของปีที่วางไว้ที่ 1,976 จุดได้
ด้านมุมมองต่อกลุ่มธนาคารในปี 2561 นี้ คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ตัวเลขด้านการลงทุนและการบริโภคที่มีแนวโน้มดีที่สุดในรอบหลายปี จะส่งผลให้เกิดความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยคาดว่ากำไรจากกลุ่มธนาคารโดยรวมจะฟื้นตัวขึ้น 10% เทียบเท่ากับการเติบโตของตลาดที่ 5.4% ทั้งนี้ปี 2561 คาดว่าจะเป็นปีที่เริ่มเข้าสู่ขาขึ้นของเงินเฟ้อและดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าตลาดจะยอมรับการซื้อขายใน Valuation ที่แพงมากขึ้นของกลุ่มธนาคาร ทำให้กลุ่มธนาคารจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถผลักดันให้ SET INDEX สามารถขึ้นไปทดสอบในระดับกรอบบนที่ 1,976 จุดได้เช่นกัน
ทั้งนี้ นอกจากกลุ่มธนาคารที่มีความน่าสนใจแล้ว กลุ่มหุ้นที่อิงกับประเด็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและมี Upside ที่สูงกว่าตลาดรวมถึงสูงกว่าหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน จะเป็นหุ้นที่เป็นเป้าหมายในการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างประเทศอีกด้วย หุ้นกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ STEC , TICON , BBL , ROBINS , CPN , BEAUTY , ORI และ TRUE
"เราให้กรอบบนไว้ที่ 1,976 จุด ซึ่งสามารถขึ้นทดสอบได้หากเงื่อนไขพร้อม ในกรณีที่เศรษฐกิจโตได้ดีทั่วโลกและมีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามา แต่มองว่ามีความยากสำหรับไทย เพราะเสน่ห์ในการลงทุนมีไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดโลก ซึ่งเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย มากกว่า อีกทั้งดัชนีตลาดหุ้นไทยขับเคลื่อนโดยอิงกลุ่มพลังงานในสัดส่วนราว 20% ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียอิงกลุ่มพลังงานในสัดส่วนที่มากกว่า"นายประกิต กล่าว
นายประกิต กล่าวว่า การที่นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย ก็เนื่องจาก SET มีความ Laggard โดยถ้าไตรมาส 1/61 เติบโตต่อก็จะมีแนวโน้มดีทั้งปี ซึ่งหุ้นเด่นปี 61 มองที่กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์จากสภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และยังไม่เห็นสัญญาณการเก็งกำไรรุนแรง รวมถึงสัญญาณเชิงบวกจากร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในไตรมาสที่ 1/61
สำหรับกลุ่มค้าปลีกมองว่าภาพรวมดีต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งในปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองรัชกาลใหม่ คาดว่าจะเห็นการจัดอีเวนท์ค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
ส่วนการที่มองกรอบล่างของดัชนีอาจต่ำกว่า 1,700 จุด ในกรณีที่การเลือกตั้งมีความไม่ชัดเจน หรือไม่มีการเลือกตั้ง อาจทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง อีกทั้งคาดว่าในช่วงปลายเดือน ก.พ.-มี.ค.61 ตลาดหุ้นไทยอาจมีความผันผวนเนื่องจากสหรัฐ จะมีการเปลี่ยนการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งการตีความนโยบายจากนักลงทุนจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงอ่อนไหวแม้มีนโยบายที่ไม่ต่างกัน อีกทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจมีการปรับนโยบายทางการเงิน หลังจากเศรษฐกิจเติบโตดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ในช่วงดังกล่าวจะมีการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งอาจเห็นการขายทำกำไรออกมาบ้างแต่คาดว่าไม่มาก แนะให้ติดตามโดยอาจเห็นการปรับประมาณการผลประกอบการของบจ. ซึ่งจะเป็น sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย