ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2560 ของธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 33,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปี 2559 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 66,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เทียบกับปี 2559 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.32 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 45,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 48,948 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.1 ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 43.5
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,003,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากสิ้นปี 2559 สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของเงินให้สินเชื่อรวม ขณะที่ระดับเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารมีจำนวน 140,021 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 160.2 ของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ
ด้านเงินกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศในเดือนกันยายน 2560 เรื่องแนวทางการระบุและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย (Higher Loss Absorbency) โดยให้ทยอยดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีก ร้อยละ 0.5 ในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนอัตราส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 1.0 ในวันที่ 1 มกราคม 2563
สำหรับธนาคารหากนับกำไรสุทธิงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560 เข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.9 ร้อยละ 17.4 และร้อยละ 17.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่สามารถรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตาม D-SIBs เรียบร้อยแล้ว สำหรับส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีจำนวน 401,724 ล้านบาท มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 210.45 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 11.90 บาท จากสิ้นปี 2559
ทั้งนี้ ในปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์จากต่างประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวในอัตราดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในช่วงเวลาที่มีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลกที่แตกต่างกันและความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนทางด้านการเงินและการค้าโลกได้ ธนาคารจึงยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน