โบรกเกอร์ต่างแนะนำ"ซื้อ" บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) มองแนวโน้มกำไรในปี 61 โตต่อเนื่อง คาดมีกำไร 3.66 - 3.7 พันล้านบาท เติบโต 18-20% เป็นการเติบโตของธุรกิจทั้งรถไฟฟ้า และทางด่วน โดยเฉพาะธุรกิจรถไฟฟ้าที่มาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้นจากต้นทุนที่ลดลงโดยค่าใช้จ่ายในการเปิดตัวโครงการใหม่น้อยลง และได้ประโยชน์จาก Economies of scale โดยคาดจำนวนผู้โดยสารสายสีน้ำเงินเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 9% Y-Y อยู่ที่ 3.2 แสนเที่ยว ตามผลของการเชื่อมต่อสถานีเตาปูน-บางซื่อเต็มปี รวมทั้งค่าเสื่อมราคาลดลงจากการขยายเวลาสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ
ขณะที่ผู้บริหารประเมินอย่างอนุรักษ์นิยมว่าจำนวนผู้โดยสารในปีนี้จะเติบโต 4-5% และเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-หลักสอง) ในเดือน ก.ย. 62 และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ท่าพระ) ในเดือน มี.ค. 63 จะหนุนให้มีผู้ใช้บริการกว่า 5.5 แสนเที่ยว/วัน หรือเติบโตเกือบเท่าตัวจากปี 60 นอกจากนี้มีแนวโน้มได้ปรับอัตราค่าโดยสาร ก.ค.นี้
นอกจากนี้แนวโน้ม BEM เติบโตได้อีกมากจากงานใหม่เข้ามา โดยผู้บริหารมีแผนประมูลสัญญาดำเนินงานและซ่อมบำรุง (O&M) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (ตะวันตก-ตะวันออก, ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เนื่องจากบริษัทได้เปรียบทางการแข่งขันในหลายๆด้าน และมีแผนจะเข้าประมูลสัญญา O&M สำหรับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี
อีกทั้งยังมี Hidden Asset จากแผนนำ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BEM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 62
ปิดภาคเช้าวันนี้ ราคาหุ้น BEM อยู่ที่ 7.70 บาท ลดลง 0.05 (-0.65%) ปรับตัวลงตามดัชนี SET (-0.46%)
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ฟินันเซียไซรัส ซื้อ 10.00 เอเอสแอล ซื้อ 9.80 บัวหลวง ซื้อ 9.10 หยวนต้าฯ ซื้อ 9.55 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 8.60 ฟิลลิปฯ ซื้อ 8.30
นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังคงคำแนะนำ"ซื้อ"หุ้น BEM เนื่องจากธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต เป็นการเติบโตจากภายใน (Organic growth) ทั้งธุรกิจรถไฟฟ้า และธุรกิจทางด่วน จากโครงการปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดรายได้ในปี 61 ที่ 15,671 ล้านบาท เติบโตจากปี 60 ที่คาดมีรายได้ 15,161 ล้านบาท หรือเติบโตราว 3.5%
ขณะที่กำไรสุทธิในปี 61 คาดเติบโต 20% มาที่ 3,668 ล้านบาท จากปี 60 คาดกำไรสุทธิที่ 3,071 ล้านบาท เป็นเพราะอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น เป็นผลจากประโยชน์ของ economies of scale โดยต้นทุนคงที่ไม่เพิ่มขึ้นแต่มีจำนวนผู้โดยสาร รวมทั้งค่าเสื่อมราคาลดลงจากการได้ต่อขยายเวลาสัญญาสัมปทาน เหล่านี้ทำให้กำไรจะดีขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ BEM มีโอกาสจะได้รับงานบริหารการเดินรถในเส้นทางอื่น อาทิ รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นต้น อีกทั้งบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BEM ดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณาและพาณิชย์ มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์
ส่วนในไตรมาส 4/60 คาดการณ์กำไรออกมาแข็งแกร่งเป็น 702 ล้านบาท (+19% y-o-y, -25% q-o-q) สาเหตุที่ลดลง q-o-q มาจากปัจจัยฤดูกาล แต่ที่เติบโตดี y-o-y เพราะรายได้เติบโต 3% ซึ่งมาจากปริมาณการใช้ทางด่วนที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้รถไฟฟ้า (ridership) MRT โดยปริมาณการใช้ทางด่วน ในไตรมาส 4/60 เป็น 1,211 พันเที่ยวต่อวัน (+0.8% y-o-y) ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากทางด่วนส่วนขยายวงแหวนศรีรัชที่เปิดใหม่ และการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้รถไฟฟ้าเป็น 3.01 แสนเที่ยวต่อวัน (+7% y-o-y) โดยเป็นการเติบโตภายในจากโครงการอสังหาฯที่เปิดเพิ่มขึ้นในส่วนที่ใกล้รถไฟฟ้า รวมทั้งมีผู้โดยสารเพิ่มหลังจากเชื่อมต่อ 1 สถานีของสายสีม่วงสำเร็จ
นางสาวจิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่ากำไรสุทธิของ BEM ในปี 61 จะโต 18% Y-Y เป็น 3.7 พันล้านบาท จากรายได้ที่เติบโตจากทั้ง 3 ธุรกิจ และมาร์จิ้นที่ปรับตัวดีขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง โดยคาดจำนวนผู้โดยสารสายสีน้ำเงินเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 9% Y-Y อยู่ที่ 3.2 แสนเที่ยว ตามผลของการเชื่อมต่อสถานีเตาปูน-บางซื่อเต็มปี ขณะที่มี Upside ที่ยังไม่รวมในประมาณการอีกมาก อาทิ สัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ และรถไฟฟ้าสีส้มตะวันออก โดย BEM มีความได้เปรียบจากการรับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงปัจจุบันอยู่ และสามารถจับมือกับบริษัทแม่อย่างบมจ.ช.การช่าง(CK) ในการเข้าประมูลงานได้
นอกจากนี้ประเด็นที่น่าติดตามในปีนี้ คือการพิจารณาปรับขึ้นค่าผ่านทางของทางด่วน (ปรับทุก 5 ปี) และค่าโดยสารรถไฟฟ้า (ปรับทุก 24 เดือน) ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 ก.ย. 61 และ 2 ก.ค. 61 ตามลำดับ โดยเราคาดว่ามีโอกาสสูงในการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าอีกครั้ง อิงจากดัชนี Bangkok Non-Food CPI ที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ปรับราคาครั้งล่าสุดในปี 55 ส่วนค่าผ่านทางของทางด่วน มีแนวโน้มไม่ปรับขึ้น เนื่องจากดัชนี Bangkok CPI ยังอยู่ในระดับต่ำ
ดังนั้น คงคำแนะนำ“ซื้อ" ราคาเหมาะสมที่ 10 บาท โดย BEM ยังคงเป็นหุ้นที่เราชื่นชอบ จากรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวจากสัมปทานในมือทั้งระบบราง และทางด่วน รวมถึงการเติบโตของเงินลงทุนในบริษัทลูกอย่าง CKP, TTW, โครงการพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) และมีแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจตามการเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อีกทั้ง ยังมี Hidden Asset จากแผนนำ BMN (BEM ถือ 65%) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 62
ขณะที่ราคาหุ้นใน 3 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลง 3% ซึ่งไม่สอดคล้องกับพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากการเป็น Defensive Growth และสวนทางกับบริษัทลูกอย่าง CKP +11%, TTW +16%
บล.บัวหลวง มีมุมมองบวกจากการเห็นการเติบโตชัดเจนโดยเฉพาะธุรกิจรถไฟฟ้า โดยบริษัทตั้งเป้าอย่างอนุรักษ์นิยมว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 4-5% ในปี 61 คาดการเปิดรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-หลักสอง) ในเดือน ก.ย. 62 และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ท่าพระ) ในเดือน มี.ค. 63 จะหนุนให้มีผู้ใช้บริการกว่า 5.5 แสนเที่ยว/วัน ในปี 64 (เมื่อทุกเส้นทางเปิดให้บริการ) ตัวเลขเติบโตจากปี 60 เกือบเท่าตัว นอกเหนือจากนี้ ค่าโดยสารคาดว่าจะปรับขึ้นในเดือน ก.ค. 61 โดยใช้ CPI กรุงเทพฯ ที่ไม่รวมอาหารเป็นตัวพิจารณา มีกำหนดการปรับค่าโดยสารทุกๆสองปี ปรับครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. 59
ส่วนผลการดำเนินงานในธุรกิจทางด่วนยังคงเติบโตในระดับทรงตัวต่อเนื่อง ปริมาณการใช้ทางด่วนเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 2.9% YoY ในปี 60 ใกล้เคียงกับที่เติบโต 3.2% YoY ในปี 59 คาดตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้น 1-2% ในปีนี้ หนุนโดยการใช้บริการทางด่วนศรีรัตน์-วงแหวนรอบนอก (SOE) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (เปิดให้บริการเมื่อเดือนส.ค. 60) โดยการใช้บริการทางด่วนสายดังกล่าวพุ่งขึ้น 25% YoY จาก 3.9 หมื่นทริปในปี 59 มาเป็น 4.9 หมื่นทริปในปี 60 เรามองว่าจะเติบโตต่อเนื่องเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าจะมีผู้ใช้ SOE 8 หมื่นทริปในปี 62
สำหรับสัมปทานทางด่วน SES ที่จะหมดอายุในปี 63 นั้น BEM มีสิทธิที่จะต่อสัญญาระยะเวลา 10 ปี (ต่อได้สองครั้ง รวมเป็น 20 ปี) อย่างไรก็ตามการต่อสัญญาขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่าง BEM กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) BEM ได้ยื่นจดหมายแสดงเจตจำนงไปยัง EXAT เมื่อปี 58 คาดว่าจะรู้ผลการเจรจาในปี 62 ทั้งนี้ผู้บริหารมั่นใจว่า EXAT จะอนุมัติให้ BEM ต่อสัมปทาน
นอกเหนือจากธุรกิจที่บริษัททำอยู่ในปัจจุบัน BEM ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมหาศาล ผู้บริหารมีแผนประมูลสัญญาดำเนินงานและซ่อมบำรุง (O&M) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (ตะวันตก-ตะวันออก, ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เนื่องจากบริษัทได้เปรียบทางการแข่งขันในหลายๆด้าน การเป็นผู้ให้บริการดังกล่าวนั้น บริษัทจะสามารถใช้ระบบซ่อมบำรุงและอื่นๆที่มีในมือร่วมกันได้ อีกทั้ง BEM มีบุคลากรที่ชำนาญการอยู่แล้ว คาดจะมีการเปิดประมูลโครงการเหล่านี้ในปี 61
สำหรับธุรกิจทางด่วน เนื่องจาก BEM เป็นบริษัทเอกชนที่ให้บริการทางด่วนรายใหญ่ที่สุด (เป็น 1 ใน 2 บริษัทที่มีสัมปทานทางด่วนในประเทศไทย) บริษัทมีแผนจะเข้าประมูลสัญญา O&M สำหรับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (คาดจะมีการเปิดประมูลปลายปีนี้; กรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบ)
ขณะที่โอกาสสำหรับการพัฒนาธุรกิจสื่อโฆษณายังมีอีกมากเช่นกัน การเปิดรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะทำให้มีสถานีเพิ่มขึ้นอีก 20 แห่ง และมีรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 35 ขบวน (จากปัจจุบันมี 18 สถานี และ 19 ขบวน) อีกทั้ง 16 สถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปัจจุบันก็ยังเป็นโอกาสอีกมาก อย่างไรก็ตามสิทธิในการพัฒนาโฆษณาขึ้นกับการเจรจากับ รฟม.