นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ บมจ.การบินไทย (THAI) ว่า การบินไทยต้องโฟกัสเรื่องการปรับลดรายจ่าย ซึ่งได้ให้ไปพิจารณาโมเดลธุรกิจของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) รวมทั้งการลดแบบเครื่องบินให้น้อยลง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ทันที ทั้งนี้ รายจ่ายสำคัญของการบินไทยมาจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทน (Fixed Asset) และรายจ่ายจากการดำเนินงาน ดังนั้นให้ลดสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทน ซึ่งเสนอให้ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์เหล่านี้ให้หมด โดยใช้ความเข้มงวดกับบันทึกบัญชีของบริษัท เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบดุล และสร้างผลประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นของการบินไทย และจะเป็นบริษัทที่มีงบการเงินแข็งแกร่งหากขายสินทรัพย์เหล่านี้ได้ก็จะกลับมาเป็นรายได้
"ได้แนะนำให้การบินไทย ศึกษาโมเดลธุรกิจ Low Cost Airlines เพื่อนำไปปรับใช้เรื่องการดำเนินงานด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยยังรักษาความเป็นสายการบิน Full Services...เราจะต้องแข่งขันในตลาดให้ได้ รายได้เป็นเรื่องรอง" นายไพรินทร์กล่าว
พร้อมระบุว่า ได้แนะนำให้การบินไทยจัดทำแผนฟื้นฟูองค์กรฉบับใหม่ให้เห็นภาพและเป้าหมายสุดท้ายขององค์กรที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการทำกำไรและความยั่งยืน เพราะแผนฟื้นฟูฉบับเก่า เคยพูดถึงเพียงแค่คำว่าทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจขาดทุน แต่ธุรกิจควรมีมากกว่าคำว่าไม่ขาดทุน โดยตนจะเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุงแผนฟื้นฟูของการบินไทยไปเรื่อยๆ ให้สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้คาดว่าการบินไทยจะใช้เวลาไม่นานในการฟื้นฟู
ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี THAI กล่าวว่า จากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับกว่า1 พันล้านบาท จากหนี้สินในรูปเงินยูโรที่ยังคงค้างอยู่ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีรายได้เป็นสกุลเงินยูโรกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีได้ทยอยจ่ายหนี้ด้วยสกุลเงินยูโร จึงไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน ทำให้มองว่าผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนระดับ 1 พันล้านบาทดังกล่าว ถือว่ามีผลกระทบเล็กน้อยเพียง 0.5% ของรายได้บริษัทฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี
ขณะที่การด้อยค่าสินทรัพย์ในปัจจุบัน เป็นการด้อยค่าเครื่องบินเก่าที่รอขายอยู่จำนวน 23 ลำ มีการลงบันทึกด้อยค่าอยู่แล้ว 1.8-2 พันล้านบาทต่อปี