นางสาวดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบัญชี บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มเป้าหมายยอดขายในปี 61 จากที่คาดไว้ระดับ 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 4.5 แสนล้านบาท หลังราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมายืนเหนือระดับ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในขณะนี้ ผลักดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวขึ้นด้วย โดยเป็นระดับที่สูงกว่าประมาณการราคาน้ำมันดิบที่บริษัทใช้จัดทำแผนงานปีนี้ที่อยู่ระดับ 52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งบริษัทจะรอดูทิศทางราคาน้ำมันที่ชัดเจนอีกครั้งหลังในไตรมาส 1/61 ก่อนที่จะตัดสินใจขยับเป้าหมายยอดขายใหม่
"ตัวราคาน้ำมันที่ทำไปก่อนหน้านี้เป็น budget ณ วันนี้ ผ่านไปแล้ว 1 เดือนราคาดีกว่าเยอะ ดีกว่า budget ปีนี้ที่เราทำประมาณ 52 เหรียญฯ แต่ตอนนี้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 65 เหรียญฯ ก็ต้องดูว่าจะยั่งยืนไหม ถ้าราคาน้ำมันขึ้นมา 65-70 เหรียญฯ ก็คิดว่า shale oil ก็อาจปั๊มออกมา ครึ่งปีหลังราคาอาจจะ soft ลง แต่เฉลี่ยแล้วน่าจะสูงกว่า 52 เหรียญฯ แต่เราจะดูให้นิ่ง ๆ ไตรมาสหนึ่งก่อน...ตอนทำงบประมาณทำไว้ที่ 52 เหรียญฯ ส่วนเพิ่มนี้ก็เป็นอัพไซด์ใหม่ กำไรเพิ่ม รายได้เพิ่ม เดี๋ยวดูพ้นไตรมาส 1 ว่าจะปรับอย่างไร"นางสาวดวงกมล กล่าว
นางสาวดวงกมล กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงนี้ ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ขยับขึ้นมาที่ 1,300 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าราคาเฉลี่ยปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 1,170 เหรียญสหรัฐ/ตัน และสูงกว่าที่ประมาณการในปีนี้ที่ระดับ 1,133 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยราคาส่งมอบ ณ เดือนม.ค. อยู่ที่ 1,200-1,300 เหรียญสหรัฐ/ตัน
อย่างไรก็ตามด้านส่วนต่าง (สเปรด) ระหว่างราคาแนฟทาซึ่งเป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ HDPE ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 650 เหรียญสหรัฐ/ตัน นั้น แม้ว่าจะถูกกระทบบ้างจากต้นทุนแนฟทาที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน แต่ไม่กระทบกับบริษัทเพราะต้นทุนการผลิตของบริษัทส่วนใหญ่ใช้ก๊าซฯเป็นวัตถุดิบ ทำให้สเปรดผลิตภัณฑ์ HDPE ของบริษัทยังสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ นอกเหนือจากจะได้รับผลดีจากอัพไซด์ที่เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันแล้ว ยังได้รับปัจจัยบวกจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีอัตราการใช้กำลังผลิตอะโรเมติกส์ เพิ่มขึ้นมาที่ 91% จาก 80% ในปีที่แล้ว หลังได้เปลี่ยน catalyst โรงงานอะโรเมติกส์ 1 โรงทำให้เดินเครื่องผลิตได้ดีขึ้น และการใช้กำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นเป็น 99% จาก 96% ในปีก่อน เนื่องจากไม่ได้หยุดซ่อมบำรุงมากเหมือนในปีที่แล้ว
นอกจากนี้ยังได้รับผลประโยชน์เต็มที่จากโครงการ Asset Injection ซึ่งเป็นการซื้อหุ้น 6 บริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีสายโพรพิลีน สายเคมีภัณฑ์ชีวภาพ ของกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ที่จะรับรู้ได้เต็มปี หลังจากได้เข้าซื้อมาเมื่อกลางปีที่แล้ว รวมถึงโครงการ MAX ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กรนั้น คาดว่าจะสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) ในปีนี้ได้เป็นราว 6 พันล้านบาท จาก 3 พันล้านบาทในปีที่แล้ว
สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 60-64) ยังคงเป็นวงเงินเดิมที่ราว 1.8 แสนล้านบาท โดยประมาณ 1.35 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนบางส่วนในไบโอคอมเพล็กซ์ จ.นครสวรรค์ ของบมจ.โกลบอลกรีน เคมิคอล (GGC) ซึ่งการลงทุนใน EEC เป็นเงินลงทุนของบริษัทราว 1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือ 3.5 หมื่นล้านบาทเป็นการลงทุนของ GGC
ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTTGC กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สถานการณ์ปิโตรเคมีค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นต้วของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และราคาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้แย่ และตลาดที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้สิ้นปีที่ผ่านมาจะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของบริษัท
ส่วนในปี 2561 บริษัทจะยังคงรักษา productivity , reliability อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่เป็นสากล ส่วนการขยายกำลังการผลิต ปีนี้จะมีการเดินหน้าการลงทุนตามแผนงาน ขณะที่การลงทุนในส่วนของธุรกิจขั้นปลายจะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดพิเศษเพิ่มขึ้น ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำสากล รวมถึงจะเปิดตลาดในกลุ่ม CLMV มากขึ้น สร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น