(เพิ่มเติม) SCB ปรับทัพองค์กร รองรับกระแสดิจิทัล คาดการลงทุนด้านเทคโนโลยีจะกระทบผลการดำเนินงานไปจนถึงปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 22, 2018 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยถึงเป้าหมายการดำเนินธุรกิจปี 2561 ว่า เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะพลิกรูปโฉมของกระบวนการและการให้บริการแก่ลูกค้า ธนาคารจึงต้องการที่จะเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อทุกสังคมเข้าด้วยกัน ภายใต้กลยุทธ์ “Going Upside Down" (กลับหัวตีลังกา) ที่มีแนวทางในการดำเนินงานที่สำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.Lean the Bank (เพิ่มประสิทธิภาพธนาคาร) 2.High Margin Lending (ปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง) 3.Digital Acquisition (การดำเนินธุรกิจในโลกดิจิตอล) 4.Data Capabilities (เพิ่มขีดความสามารถในการใช้ข้อมูล) 5.New Business Model (ธุรกิจรูปแบบใหม่)

โดยรายได้หลักของธนาคารจะยังคงมาจากธุรกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเพื่อการบริโภค และการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งจะเห็นการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วยการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุน พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของทักษะและขีดความสามารถใหม่ ๆ ของพนักงานในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า โดยจะเห็นได้ชัดเจนในธุรกิจของ Wealth Management ที่ทางธนาคารมีเป้าหมายจะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้อย่างมาก โดยมีเป้าหมายสูงสุดในอีกสามปีข้างหน้าเพื่อเป็น Digital Platform ขนาดใหญ่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหลัก

นอกจากนี้ ธนาคารต้องสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น โดยเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ผ่านการจัดโครงสร้างบริการของธนาคารและบริษัทในกลุ่มทั้งหมด โดยโครงสร้างใหม่จะต้องเอื้อต่อการทดลองเรื่องใหม่ ๆ ให้เกิดได้ง่ายขึ้น เช่นที่ธนาคารได้ตั้ง ดิจิทัลเวนเจอร์ บริษัทลูกด้านเทคโนโลยี และ เอสซีบี อบาคัส บริษัท Data Tech ที่ใช้นวัตกรรมอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) รวมทั้งการแสวงหาพันธมิตรซึ่งธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรเป็นอย่างมาก

"ปี 2561 จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง มิใช่เพียงให้อยู่รอดได้เท่านั้น แต่เพื่อให้ธนาคารเป็นที่รักของลูกค้าและลูกค้าอยากมาใช้บริการของเรา" นายอาทิตย์ กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 61-63 จะเน้นการปรับขนาดองค์กรให้มีขนาดเล็กลง เพื่อสามารถตีลังกาและเดินไปข้างหน้าได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งในส่วนของพนักงานของธนาคารจะมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่และโยกย้ายไปทำในตำแหน่งที่มีความเหมาะสมมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มศักยภาพของพนักงานให้มีความรู้และสามารถบริการลูกค้าในด้านอื่นได้ โดยเฉพาะด้านการแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้า และในส่วนของจำนวนพนักงานอยากให้มีจำนวนลดลงเหลือ 15,000 คน จากปัจจุบันมีพนักงานอยู่ที่ 27,000 คน ซึ่งโดยปกติพนักงานของ SCB จะมีการลาออกเฉลี่ย 2,000-3,000 คน/ปี

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงมีการรับพนักงานเพิ่ม แต่จะเน้นพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้กับธนาคาร ทั้งนี้ในปี 60 ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานใหม่ ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้มีคนสนใจอยากร่วมงานกับธนาคารเพิ่มมากขึ้น

ส่วนจำนวนสาขาของ SCB นั้น จะมีการปรับลดจำนวนสาขาลงเหลือ 400 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 1,153 สาขา โดยจะปิดสาขาที่มีปริมาณธุรกรรมและการใช้บริการของลูกค้าน้อย และสาขาของธนาคารในยุคปัจจุบันและอนาคตจะเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ และใช้พนักงานให้น้อยที่สุด เพื่อลดต้นทุนของการดำเนินงานให้น้อยลง ขณะที่ด้านการให้บริการด้านสินเชื่อจะนำมาระบบข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ลูกค้ามากขึ้น พร้อมกับเน้นไปที่สินเชื่อประเภทไม่มีหลักประกัน ที่มีการแข่งขันไม่สูงและให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูง

โดยธนาคารจะเน้นไปที่สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ยังมีช่องว่างในการทำการตลาดและโอกาสที่จะเข้าไปรุกตลาดในส่วนนี้มากขึ้น ประกอบกับเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง แม้ว่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับสูง แต่การนำข้อมูลมาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า จะส่งผลให้ไม่สร้างหนี้เสียเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่ลดลงจากการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันธนาคารจะไม่เน้นกลุ่มสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อบ้านเหมือนกับในช่วงที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท มีการแข่งขันที่สูง จากผู้ประกอบการหลายเข้าเข้ามารุกตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และส่งผลต่อผลตอบแทนที่ลดลง ซึ่งการมุ่งเน้นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระจายสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยให้ไปสู่สินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น ซึ่งรายได้ของธนาคารส่วนใหญ่ยังคงมาจากรายได้จากดอกเบี้ย

"ปีนี้จะเป็นปีที่ SCB จะตีลังกา เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งการตีลังกาได้ดี เราต้องทำตัวให้ผอม โดยจะต้องปรับลดขนาดองค์กรให้เล็กลง พร้อมกับเดินหน้าการลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อเสริมศักยภาพการบริการให้มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อจะไปเน้นสินเชื่อที่มีการแข่งขันไม่สูง และให้ผลตอบแทนที่ดีมากขึ้น ซึ่งเป็นประเภทสินเชื่อ Unsecure Loan จากเดิมที่เราเน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อบ้าน ซึ่งตอนนี้มีการแข่งขันที่สูงและเกิดการตัดราคากัน ตรงนี้ ทำให้เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปหาประเภทสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น ซึ่งการรักษาการเติบโตผมไม่ได้มองที่ไซส์ แม้ว่าตอนนี้พอร์ทสินเชื่อจะเป็นเบอร์ 1 แต่ผมมองว่าจะทำอย่างไรให้ธนาคารสามารถแข่งขันได้ และกระทบต่อ Bottom line น้อยที่สุด หรือทำให้เพิ่มขึ้นได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผมและทีมงานทุกคน หากทำไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะแสดงความรับผิดชอบในการลาออก" นายอาทิตย์ กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี (IT) อย่างต่อเนื่องในปี 61 เพื่อสร้างศักยภาพในด้านการดำเนินงานที่สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในภาวะที่อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ถูกเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดกระทบต่อผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารต้องมีการปรับตัวเพื่อเดินหน้าธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งธนาคารได้ตั้งงบลงทุนด้าน IT ในช่วงปี 5 ปี (ปี 59-63) อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ใช้งบลทุนดังกล่าวไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท

โดยการลงทุนด้าน IT ที่เกิดขึ้นนั้น ธนาคารยอมรับว่ามีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปี 60 ที่ผ่านมาราว 4 พันล้านบาท ซึ่งมองว่าในช่วงแผนการลทุนด้าน IT ในช่วงอีก 3 ปีที่เหลือนี้จะยังคงส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งการลงทุนในปี 61 ธนาคารจะเน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จะเป็นการสร้างพันธมิตร โดยการร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งจะมีดีลต่างๆ ที่เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรออกมาค่อนข้างมาก และในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะมีการนำเทคโนโลยี Blockchain ใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งถือการเปลี่ยนแปลงวงการอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยธนาคารและพันธมิตรใช้เวลาศึกษาและร่วมมือกันทำงานมาเป็นระยะเวลา 4 เดือน

ขณะที่โอกาสในการที่ธนาคารจะเป็นตัวกลางในการรองรับเกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ได้มีการศึกษาแนวทางในการเป็นตลาดของเงินสกุลดิจิทัลในเบื้องต้น พร้อมกับศึกษาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลดิจิทัล ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสของที่ดีที่ธนาคารจะเข้าไปมีบทบาทในส่วนนี้ แต่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะเงินสกุลดิจิทัลยังไม่เป็นที่รับรองจากทางการ

ส่วนกรณีความคืบหน้าของ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ปัจจุบันยังไม่จัดอยู่ในชั้นหนี้เสีย แต่ยังขอไม่เปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ

ด้านนางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส SCB กล่าวเสริมว่า ในปี 61 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโต 6-8% สูงขึ้นจากปีก่อนที่สินเชื่อรวมเติบโตได้ 4.9% ตามเป้าหมายที่วางไว้โต 4-6% โดยปีนี้ธนาคารจะเน้นขยายสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งตั้งเป้าเติบโต 6-8% ในขณะที่สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรายใหญ่จะเติบโต 4-6% ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีตั้งเป้าเติบโต 6-8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ