โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แม้มองแนวโน้มกำไรปี 61 ยังเป็นขาลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หลังได้รับผลกระทบต้นทุนแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน กดดันให้สเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอ่อนตัวลง อีกทั้งธุรกิจซีเมนต์ยังคงอ่อนแอ แม้ว่าภาพรวมปริมาณงานเพิ่มขึ้นตามการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่อัตรากำไรมีแนวโน้มหดตัวจากการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามจากการที่ SCC มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพในการสร้าง EBITDA ได้ราว 8 หมื่นล้านบาท/ปี จึงทำให้เชื่อว่าจะสามารถจ่ายปันผลในอัตราที่สูงราว 18-19 บาท/หุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นหุ้นที่เหมาะสมสำหรับการเล่นรับเงินปันผล รวมถึงราคาหุ้นที่ Laggard กว่าหุ้นขนาดใหญ่อื่นหลังจากที่ราคาหุ้นได้สะท้อนข่าวลบไปพอควร ทำให้ยังมีความน่าสนใจในการลงทุน
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4/60 ที่ SCC เตรียมจะรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิราว 1.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงเมื่อเทียบกับระดับกำไร 1.18 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/60 และกำไร 1.25 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4/59 ซึ่งในส่วนนี้ได้รวมกำไรพิเศษเข้ามาด้วย แต่หากพิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 4/60 จะพบว่ากำไรลดลงจากธุรกิจปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลง
ราคาหุ้น SCC พักเที่ยงอยู่ที่ 492 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.48%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) บัวหลวง ซื้อ 580 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 580 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 550 ไอร่า ซื้อ 590 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อ 550 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ทยอยซื้อสะสม 580
นายสุรชัย ประมวลเจริญกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงทุนในหุ้น SCC ยังมีความน่าสนใจ"ซื้อ"ในลักษณะลงทุน โดยให้ราคาเป้าหมาย 550 บาท แม้ว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 จะลดลงจากกำไร 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดประวัติการณ์ในปี 59 และกำไรจะยังอ่อนตัวต่อเนื่องในปีนี้จากต้นทุนแนฟทาที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบก็ตาม แต่ SCC ยังมีศักยภาพการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีละ 8 หมื่นล้านบาท และการจ่ายปันผลปีละประมาณ 18-19 บาท/หุ้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนมาอยู่ใกล้ระดับ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุนแนฟทาสูงขึ้นตาม กระทบต่อส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอ่อนตัวลง และส่งผลต่อกำไรของธุรกิจปิโตรเคมีของ SCC ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของกำไรทั้งหมด
ประเมินว่า SCC จะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/60 ที่ 1.24 หมื่นล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/60 และไตรมาส 4/59 โดยในไตรมาสนี้มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นของบริษัทในเวียดนามและมาเลเซียราว 716 ล้านบาท และมีปันผลจากโตโยต้าฯที่จะเข้ามาในช่วงไตรมาส 2 และ 4 กว่า 1 พันล้านบาท/ไตรมาส อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงาน จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสเปรดปลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และ 4% จากงวดปีก่อน ตามต้นทุนแนฟทาที่ปรับขึ้น 21% จากไตรมาสก่อน และ 26% จากงวดปีก่อน หลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ธุรกิจปูนซีเมนต์ยังได้รับผลกระทบจากช่วงงานพระราชพิธีในเดือนต.ค.60 งานก่อสร้างชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาส 3/60 และต่อเนื่องในไตรมาส 4/60 จากที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่น ส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ค่อนข้างทรงตัว
ทั้งนี้ ประเมินว่า SCC จะมีกำไรสุทธิในปี 60 ที่ระดับ 5.48 หมื่นล้านบาท ลดลง 2% จากปี 59 และมีกำไรสุทธิปี 61 ที่ระดับ 5.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 5% จากปี 60 หลังคาดว่าสเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปีนี้อยู่ที่ 630-650 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากระดับ 670 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีก่อน จากทิศทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อราคาแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ราคาแนฟทาปรับขึ้นราว 70 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนของ SCC ราว 2 พันล้นบาท/ปี
สำหรับทิศทางระยะยาวของธุรกิจปิโตรเคมียังต้องติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง แต่ประเมินเบื้องต้นในเรื่องปริมาณการผลิตปิโตรเคมีใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดโลกในปี 62 น่าจะลดลงจากในปีนี้ ซึ่งก็จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจปิโตรเคมี
ด้านบทวิเคราะห์บล.บัวหลวง ระบุว่า ปรับลดประมาณการกำไรปี 61 ของ SCC ลง 12% เพื่อสะท้อนมุมมองเชิงลบที่มีต่อธุรกิจปิโตรเคมีและซีเมนต์มากขึ้น ส่งผลให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 61 ลดลงมาอยู่ที่ 580 บาท จากเดิม 620 บาท อย่างไรก็ตาม ยังคงมุมมองที่ว่า SCC เป็นหุ้นที่เหมาะสมสำหรับการเล่นรับเงินปันผล แม้แนวโน้มกำไรจะเป็นขาลงจนถึงกลางปี 61 แต่เชื่อว่า SCCจะยังจ่ายเงินปันผลที่ 19 บาท/หุ้น สำหรับการดำเนินงานปี 60 และ 61 คิดเป็นอัตราเงินปันผลสูงถึง 3.8%
ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 4/60 จะไม่น่าตื่นเต้น โดยคาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.21 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.7% จากงวดปีก่อน แต่สูงขึ้น 2.6% จากไตรมาสก่อน โดยกำไรธุรกิจซีเมนต์เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน จากอัตราการดำเนินงานของโรงงานซีเมนต์แห่งใหม่ที่สูงขึ้นนั้น จะไม่สามารถกลบผลกระทบจากกำไรของธุรกิจปิโตรเคมีที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน และจากค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งตัวขึ้นได้ ทั้งนี้ กำไรอาจลดลงต่อเนื่องจนถึงกลางปี 61 เนื่องจากกำไรของธุรกิจปิโตรเคมีมีแนวโน้มเป็นขาลงตลอดทั้งปี 61 ขณะที่อาจยังไม่เห็นการเติบโตในธุรกิจซีเมนต์จนถึงครึ่งหลังของปี 61 สำหรับปี 61 คาดว่าอุปสงค์ซีเมนต์ในประเทศจะฟื้นตัวได้บ้างจากการบริโภคโดยรวมที่ฟื้นตัว และมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น แต่อัตรากำไรมีแนวโน้มหดตัวเนื่องจาก SCC อาจไม่สามารถปรับเพิ่มราคาขายขึ้นเพื่อชดเชยต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นได้ อีกทั้งยังมีความท้าทายจากปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ อุปทานที่ล้นตลาดและการแข่งขันในประเทศเพื่อนบ้านที่รุนแรงขึ้น ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วในครึ่งแรกของปี 60 และภาพกำไรจะเป็นขาลงต่อเนื่องจนถึงครึ่งหลังของปี 61 โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลิตภัณฑ์สายโพลีเอทิลีน (PE) ที่ชะลอตัว โดยส่วนต่างราคา HDPE เทียบกับแนฟทาเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีอุปทานใหม่จากอเมริกาเข้ามาในตลาดโลก ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์สายโพลีโพรพิลีน (PP) ก็อ่อนตัวจากราคาแนฟทาพุ่งขึ้นแรงแต่ราคา PP ยังปรับขึ้นได้ช้ากว่า อย่างไรก็ตามแม้สาย PP ในปี 61 มีแนวโน้มดีกว่าปี 60 เนื่องจากอุปสงค์ทรงตัวและอุปทานใหม่เข้ามาน้อยลง แต่ปัจจัยนี้อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยธุรกิจสาย PE ที่อ่อนตัวลงได้
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรของ SCC ในไตรมาส 4/60 และปี 61 มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดเพราะต้นทุนวัถุดิบแนฟทา เร่งตัวขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเร็ว ทำให้คาดกำไรสุทธิในไตรมาส 4/60 ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสก่อน และกำไรสุทธิปี 60 ลดลง 1.3% จากปีก่อนซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุดของธุรกิจปิโตรเคมี
ส่วนแนวโน้มกำไรปี 61 ยังน่าจะลดลงต่อจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยคาดว่าจะลดลง 3.9% จากปี 60 (ต่ำกว่าที่เคยคาด 5%) อย่างไรก็ตาม SCC มีกระแสเงินสดมั่นคง มีศักยภาพในการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว ปันผลสม่ำเสมอ มี PE ต่ำ 11.2 เท่า ประกอบกับราคาหุ้น Laggard กว่าหุ้น Big cap อื่น ซึ่งสะท้อนแนวโน้มกำไรที่แย่กว่าเดิมไปแล้ว ทำให้ยังแนะนำ"ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมายใหม่ 580 บาท