นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 61 ธนาคารจะพยายามควบคุมให้อยู่ไม่เกิน 4% โดยธนาคารจะมีการช่วยเหลือและให้คำปรึกษากับลูกค้าที่คาดว่าจะมีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้ โดยมีกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารให้ความกังวล คือ กลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหล็ก โรงสี และมันสำปะหลัง ซึ่งธนาคารจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า และมีการตัดจำหน่ายหนี้สูญออกไป เพื่อรักษาระดับ NPL ในปีนี้ให้อยู่ไนระดับไม่เกิน 4% โดย ณ สิ้นปี 60 ธนาคารมี NPL อยู่ที่ 4.19%
“NPL ใหม่ต่ำกว่า 4% ตอนนี้คงทำได้ยาก แต่รักษาระดับให้อยู่ไม่เกิน 4% เพราะธนาคารยังมีกลุ่มลูกค้าที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ แต่ก็จะมีการปรับโครงสร้างและการตัดจำหน่ายหนี้เพื่อรักษาระดับไม่ให้เกิน 4% ซึ่งก็มองว่า NPL ในปีก่อนก็ขึ้นไประดับสูงสุดแล้ว ตอนนี้ก็คงจะทรงตัวอยู่"นายผยง กล่าว
ด้านการตั้งสำรองฯในปี 61 ธนาคารคาดว่าจะยังคงมีการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้น จากการที่ในปีนี้การตั้งสำรองฯจะมีการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) เต็มปี จากปีก่อนที่ธนาคารเริ่มปรับในช่วงไตรมาส 4/60 ซึ่งการปรับการตั้งสำรองฯตามมาตรฐานบัญชีใหม่มีผลทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้น ประกอบกับลูกค้าในกลุ่มที่ธนาคารกังวล ได้แก่ กลุ่มเหล็ก โรงสี และมันสำปะหลัง ซึ่งธนาคารจะมีการตั้งสำรองฯไว้ล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นของธนาคารเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อรักษาเสถียรภาพของธนาคาร อีกทั้งธนาคารเตรียมที่จะเข้าไปปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับสัดส่วนของเงินที่จะนำมาตั้งสำรอง เพราะมองว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร
ขณะที่ความคืบหน้าการขายทอดตลาดที่ดินของบมจ.เอคิว เอสเตท (AQ) 4,800 ไร่ ได้เลื่อนการขายออกไปหลังจากที่มีเจ้าหนี้ 1 รายยื่นคัดค้าน และทำให้ต้องกลับมาที่ชั้นศาลเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งธนาคารยังต้องรอการพิจารณาจากศาลออกมาให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดต่อไป แต่ในช่วงที่ผ่านมา AQ ได้ชำระค่าเสียหายเข้ามาแล้วจำนวน 1.6 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารได้บันทึกเข้ามาเป็นกำไรพิเศษไปแล้ว ด้านกรณีธุรกิจเหล็กโนวา สตีล ซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารนั้น ได้มีการตั้งสำรองฯไปแล้วตั้งแต่สมัยนายวรภัค ธันยาวงษ์ เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร
ทั้งนี้ธนาคารมีแผนใช้เงินลงทุนด้านเทคโนโลยี (IT) ในปีนี้อยู่ที่ 2 พันล้านบาท จากงบลงทุน IT ในช่วง 5 ปี อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของลูกค้า และจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนได้ 30%
นายผยง กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารได้ชะลอการปิดสาขาให้มีจำนวนลดลง เนื่องจากธนาคารเห็นว่าการปิดสาขาเป็นจำนวนมากจะมีผลกระทบต่อลูกค้า และทำให้ลูกค้าย้ายการทำธุรกรรมไปที่ธนาคารคู่แข่งแทน ซึ่งทำไห้ธนาคารสูญเสียลูกค้าและสูญเสียโอกาส ทำให้ธนาคารชะลอการปรับลดจำนวนสาขาลงอย่างรวดเร็ว แต่จะพิจารณาปิดเพียงบางสาขาที่มีจำนวนลูกค้าและจำนวนการทำธุรกรรมน้อย อีกทั้งการเปิดสาขาใหม่ ๆ จะอยู่ในเมืองมากขึ้น เพราะสังคมไทยเริ่มเป็นสังคมเมือง โดยปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีสาขาทั้งหมดกว่า 1,100 สาขา
นอกจากนี้ ธนาคารไม่มีนโยบายลดจำนวนพนักงาน และไม่มีการเพิ่มพนักงานใหม่ แต่จะเป็นการโยกย้ายพนักงานตามความเหมาะสม และพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้เพิ่มขึ้นแทน โดยปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีจำนวนพนักงาน 24,000 คน