นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า แนวทางกำกับดูแลการระดมทุนในรูปแบบใหม่ประเภท Iinitial Coin Offering (ICO) คาดว่าจะสรุปทิศทางที่ชัดเจนได้ภายในเดือน ก.พ.61 หลังจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ที่กำหนดประชุมหารือร่วมกันในเร็ว ๆ นี้ เพราะจำเป็นต้องตกผลึกนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากเห็นชอบร่วมกันที่จะมีการกำกับดูแล ก.ล.ต.ก็คาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ได้ภายในไตรมาส 2/61
"ถ้าไม่มีการกำกับ ทุกคนก็จะมีคำถามว่าแล้วถ้าถูกหลอกจะทำอย่างไร ตอนนี้เราเดินหน้าไปก่อนในแนวทางที่อยู่ตรงกลาง คือ กำกับดูแล แต่ไม่ได้ควบคุมหรือห้าม หรือปล่อยเต็มที่ แต่ที่สุดก็ต้องรอทุกฝ่ายเคาะว่าจะเอาอย่างไร จะกำกับดูแลหรือไม่ เราทำคนเดียวไม่ได้ เพราะ ICO ผูกกับ Cryptocurrency อย่าง Bitcoin คือแยกกันได้แต่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่มีประโยชน์...แบงก์ชาติทราบดีที่สุดเรื่องนี้ (Cryptocurrency) เขาศึกษามานานแล้ว"นายรพี กล่าว
นายรพี กล่าวว่า สกุลเงินดิจิตัล (Cryptocurrency) ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฏหมายรองรับ แต่ก็ไม่ได้ผิดกฏหมาย เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความยินยอมทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวน ซึ่งหลักการดูแลสกุลเงินดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการออกหลักเกณฑ์เรื่อง ICO ที่มักจะนิยมระดมทุนด้วย Cryptocurrency
การระดมทุนในรูปแบบ ICO ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในธุรกิจ โดยจะมีการออกเหรียญหรือโทเคนตอบแทนส่วนของนักลงทุนเพื่อประโยชน์ตามที่ตกลงกันใน white paper และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนทำให้ไม่มี Track Record แสดงผลการดำเนินงานในอดีตมาอ้างอิง ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยธุรกิจที่ระดมทุนด้วย ICO ราว 95% ล้มเหลว จะมีเพียงราว 5% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ แต่นักลงทุนให้ความสนใจที่ศักยภาพการเติบโตสูง หากประสบความสำเร็จก็๋มีโอกาสที่จะทำเงินและให้ผลตอบแทนค่อนข้างมาก
ก.ล.ต.จึงได้กำหนดรูปแบบเบื้องต้นของการกำกับดูแลการระดมทุนด้วย ICO ในลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่ได้ห้ามทำธุรกรรมดังกล่าว และไม่ได้ปล่อยอิสระเต็มที่ จะแต่จะเน้นการวางหลักเกณฑ์กำกับ ICO ที่เป็นหลักทรัพย์ (Securites) ที่เข้ามาระดมทุนในประเทศ และตัวกลางที่ทำหน้าที่นำเสนอ ICO คือ Portal แต่ละราย รวมถึงจำกัดลักษณะของนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อย
ปัจจุบันมีผู้แสดงความสนใจที่จะทำหน้าที่ ICO Protal มาแล้วราว 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางรายก็เป็นบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่มีผู้ประกอบการที่สนใจระดมทุนด้วย ICO สอบถามเข้ามาแล้วมากกว่า 15 ราย
นายรพี กล่าวว่า การระดมทุนแบบ ICO อยู่ใน Visual Space และไม่ผ่านตัวกลาง อย่างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ไม่มี Underwriter ทำให้ไม่มีต้นทุนเหล่านี้ แต่จะเป็นการนำเสนอ white paper คล้ายหนังสือชี้ชวนให้นักลงทุนที่สนใจทราบข้อมูลในการระดมทุน โดยไม่มีการกำหนดการให้ข้อมูลขั้นต่ำที่ต้องเปิดเผยหรือรูปแบบการเปิดเผย ดังนั้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจด้วยตัวเอง
สำนักงาน ก.ล.ต.มีแนวทางเข้ามากำกับดูแลการระดมทุนแบบ ICO เฉพาะประเภทที่เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งให้ผลตอบแทนต่อนักลงทุนแบบส่วนแบ่งรายได้และกำไร โดยจะให้มีการระดมทุนผ่าน portal ที่ ก.ล.ต.ยอมรับ จำกัดประเภทผู้ลงทุน และจำกัดวงเงินลงทุน ซึ่ง Portal จะมีหน้าที่เสมือน FA เป็นตัวช่วยกรองบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดแรก ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถตอบสนองข้อกังวลของ ก.ล.ต.ได้ เช่น ตรวจสอบการระดมทุนว่าตรงกับ white paper
หลังการปิดรับฟังความคิดเห็น (hearing) ในเรื่องนี้ระหว่างวันที่ 27 ต.ค.60-22 ม.ค.61 ปรากฏว่า นักลงทุนมีความคิดเห็นว่าเห็นด้วยที่ ก.ล.ต. จะเข้ามาร่วมกับ ICO portal เพื่อคัดกรอง ICO ที่มีพฤติกรรมหลอกลวง ฉ้อโกง และทำ KYC เพื่อรู้จักตัวตนของบริษัทที่จะระดมทุน โดย portal ต้องให้ข้อมูลต่อ ก.ล.ต. และกำหนดข้อมูลใน white paper ให้ชัดเจนคล้ายการการนำเสนอ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่นักลงทุนยังมีความคิดเห็นแตกต่างในการจำกัดวงเงินลงทุนในผู้ลงทุนรายย่อย และจำกัดวงเงินเสนอขายของ ICO ที่เป็นหลักทรัพย์ ความมีตัวตนของผู้ออก ICO และเส้นทางการโอนเงิน
นายรพี กล่าวอีกว่า ในขณะที่ยังไม่มีเกณฑ์การกำกับดูแล ICO ออกมาใช้ก็คงจะต้องยอมรับว่าผู้ที่สนใจออก ICO ก็สามารถทำได้ ซึ่ง ก.ล.ต.ก็คงทำได้เพียงการเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังความเสี่ยงในการลงทุน หรือความเสี่ยงที่อาจถูกหลอกลวง รวมทั้งเตือนผู้ออก ICO กรณีที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) จะต้องไม่ใช่การหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ใช้กำกับ บจ.คือแทนที่จะออกหุ้นเพิ่มทุนหรือออกหุ้นกู้กลับมาใช้การออก ICO แทน หรือการให้ข้อมูลที่อาจมีผลกะทบต่อราคาในทางใดทางหนึ่ง เป็นต้น