(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับฐานตามตลาดหุ้นทั่วโลก เหตุ Bond yield สหรัฐฯพุ่งแรง-หวั่นแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 30, 2018 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับฐานลง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ต่างปรับตัวลงกันหมด ตามตลาดสหรัฐฯที่ปรับตัวลง เนื่องจากมีความกังวลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ (Bond yield) อายุ 10 ที่พุ่งขึ้นสูงมากทะลุ 2.7% สูงสุดเกือบ 4 ปีนับตั้งแต่เม.ย.57 ส่งผลให้มีความกังวลในทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่อาจจะปรับสูงขึ้นกว่าคาด โดยมีการคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ถึง 4 ครั้ง หรือไม่ ซึ่งก็จะส่งผลให้มีแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา รวมถึงหุ้นด้วย

นอกจากนี้ "โกลดฺ์แมน แซคส์" ก็ออกมาบอกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯร้อนแรงเกินไป ควรจะปรับฐานบ้าง และเมื่อคืนที่ผ่านมาราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงด้วย รวมไปถึงบริษัท แอปเปิล อิงค์ มองว่าความต้องการ iPhone X น้อยลงกว่าคาดไว้ ทำให้เป็นปัจจัยลบ และจากความกังวลนี้ทำให้ตลาดฯน่าจะเริ่มปรับฐานได้

พร้อมกันนี้ให้ติดตามการประชุมเฟดในวันที่ 30-31 ม.ค.นี้ ซึ่งรอบนี้ก็คงจะไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย โดยให้แนวรับ 1,825 จุด ส่วนแนวต้าน 1,848 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

-ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (29 ม.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,439.48 จุด ร่วงลง 177.23 จุด (-0.67%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,853.53 จุด ลดลง 19.34 จุด (-0.67%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,466.51 จุด ลดลง 39.27 จุด (-0.52%)

  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 70.01 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 11.50 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 215.17 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 32.24 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 7.78 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 13.13 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 5.17 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (29 ม.ค.61) 1,837.49 จุด เพิ่มขึ้น 8.61 จุด (+0.47%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 356.44 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 ม.ค.61
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (29 ม.ค.61) ปิดที่ระดับ 65.56ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 58 เซนต์ หรือ 0.9%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (29 ม.ค.61) ที่ 7.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 31.45 อ่อนค่าตามภูมิภาค หลังมีแรงซื้อดอลล์ นักลงทุนจับตาการประชุมเฟด
  • "สมคิด" หวังอีอีซีสร้างจุดเด่นไทย ดึงนักลงทุนต่างชาติ หลังอาเซียนทวีความสำคัญทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ ด้าน "คณิศ" เผยบอร์ดบีโอไอ เพิ่มเป้าขอรับส่งเสริมลงทุนอีอีซีปีนี้ ทะลุ 2.5 แสนล้านบาท พร้อมดึงบิ๊กธุรกิจไทย ประสานนักลงทุนต่างชาติ ดันลงทุนอีอีซี มั่นใจกฎหมายคลอดก.พ.นี้
  • สศค. ปรับเป้าจีดีพีปี 61 โต 4.2% จากเดิม 3.8% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากงบลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนการลงทุนในภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% พร้อมเชื่อมั่นบาทแข็งและการเลื่อนเลือกตั้งจะไม่กระทบความเชื่อมันของนักลงทุน ส่วนปี 60 คาดการณ์ขยายตัว 4% โตสุดในรอบ 5 ปี
  • ความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าของรฟม. ว่าปีนี้จะประกวดราคาเพื่อก่อสร้างอีก 2 สาย คือสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ ระยะทาง 12.9 กม. วงเงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 62
  • คมนาคมเร่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ดันรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 8 โครงการกว่า 3.98 แสนล้านบาท เข้า ครม. ก.พ.นี้ พร้อมชงศูนย์ซ่อมเครื่องบินหมื่นล้านบาทเข้าบอร์ด อีอีซี-ดันรถไฟไอสปรีดเทรน กรุงเทพฯ-หัวหิน เข้า สคร. 1 ก.พ.นี้

*หุ้นเด่นวันนี้

  • AMATA (เคทีบี) เป้า 30 บาท จากประเด็นการปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งเสริม BOI ในพื้นที่ EEC เพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านบาท จากเดิมคาดไว้ที่ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเห็นการรีบาวด์ได้
  • BDMS (ยูโอบี เคย์เฮียน) คาดรายงานผลประกอบการไตรมาส 4/60 ออกมาดี และเข้าสู่ high season ของผลประกอบการไตรมาส 1 ราคาหุ้น Underperform และ Underowned ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้หุ้นมีความ defensive ในภาวะตลาดที่ผันผวน
  • HANA (ไอร่า) "ซื้อ"เป้า 54 บาท ราคาหุ้นอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ HANA มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีเงินปันผลรองรับ คาด Div.Yield ประมาณ 4.6% พร้อมคาดกำไรงวด Q4/60 อ่อนตัวจากผลของฤดูกาลและอัตราแลกเปลี่ยน แต่ภาพอุตสาหกรรมยังคงแข็งแกร่งทั้ง IC และ PCBA ทำให้เชื่อว่าธุรกิจจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 61 และคาดการตัด GSP และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบจำกัด แต่แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
  • PTTGC (เอเอสแอล) "ซื้อ"เป้า 111 บาท ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่ม จะยิ่งทำให้ Gas base Producer อย่าง PTTGC มีความได้เปรียบ โดยได้ปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบและราคา HDPE ทำให้กำไรสุทธิปี 61 เพิ่มขึ้น 14% จากเดิมเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%YoY มองว่า PTTGC ยังมีความน่าสนใจในการลงทุนจาก (1) การคาดหมายกำไรสุทธิ Q4/60 ที่แข็งแกร่ง (2) Demand จากจีนในระยะสั้น (3) กำไรสุทธิปี 61 ที่เติบโตต่อเนื่อง และ (4) เงินปันผลที่น่าสนใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ