ฟิทช์ คาดหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะชะลอตัวในปี 2561

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 30, 2018 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ มองแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับปี 61 ว่ามีแนวโน้ม "มีเสถียรภาพ" เทียบกับแนวโน้มอุตสาหกรรม "เป็นลบ" ในปี 60

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังคงมีอัตรากำไรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสำหรับผลการดำเนินงานในปี 60 โดยความสามารถในการทำกำไรที่ด้อยลงเป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้น่าจะเริ่มชะลอตัวลงในปีนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นและนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นปัจจัยช่วยให้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวลดลงได้บ้าง

ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับปี 60 ถือได้ว่าอ่อนแอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของฟิทช์ โดยภาคธนาคารพาณิชย์ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ในปีที่ผ่านมา และปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบกับธนาคารบางแห่งในด้านการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้รายใหญ่ เช่นในกรณีของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) นอกจากนี้ กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ยังคงมีอัตราส่วนการผิดนัดชำระหนี้ (delinquency) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงต่อเนื่อง

ดังนั้น สัดส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญฯ ในปีที่แล้วจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 42% ของกำไรจากการดำเนินการก่อนการตั้งสำรองหนี้สูญฯ (pre-provision operating profit) เทียบกับ 37% ในปี 59 และ 24.2% ในปี 57 ด้วยค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (net interest margin) อยู่ในระดับทรงตัว ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) เฉลี่ยของภาคธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเป็น 10.3% จาก 11.9% ในปีก่อนหน้า

ฟิทช์เชื่อว่าความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะใกล้ที่จะผ่านพ้นช่วงที่แย่ที่สุดแล้ว (bottoming out) เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานเริ่มมีการคลี่คลายลงบ้าง ทั้งนี้ ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง (GDP Growth) ในระดับเกือบ 4%

แม้ว่าอัตราดังกล่าวอาจเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอดีตและอาจเป็นอุปสรรคในการเติบโตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับนี้น่าจะเพียงพอที่ช่วยให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารชะลอตัวลงและช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาระดับรายได้ให้มีความเสถียรภาพต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยได้เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งสะท้อนได้จากการชะลอตัวอย่างมากของอัตราการเติบโตของสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และน่าจะช่วยลดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อลงได้บ้าง จากผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มการอนุมัติสินเชื่อที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าธนาคารส่วนใหญ่มีมาตราฐานการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นและธนาคารต่างๆยังมีการใช้การค้ำประกันสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้า SME เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคธุรกิจ SME

นอกจากนี้ ความผันผวนในกลุ่มลูกหนี้รายย่อย (หรือลูกหนี้บุคคล) น่าจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ทั้งนี้ด้วยอัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นกลุ่มลูกหนี้รายย่อยจึงยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อภาคธนาคารพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอย่างน้อยนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 81% ในปี 58 แต่ได้ปรับตัวลดลงมาในระดับ 78% ในไตรมาส 3/60

ขณะที่ความผันผวนในกลุ่มลูกหนี้รายย่อย (หรือลูกหนี้บุคคล) น่าจะเริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ทั้งนี้ด้วยอัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นกลุ่มลูกหนี้รายย่อยจึงยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อภาคธนาคารพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอย่างน้อยนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 81% ในปี 58 แต่ได้ปรับตัวลดลงมาในระดับ 78% ในไตรมาส 3/60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ