AOT จัดสัมมนาเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางอากาศ หนุนไทยเป็น Logistic park

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 30, 2018 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. กล่าวในการประชุม Asia Air Cargo Summit 2018 ว่า ทอท.เล็งเห็นว่าความต้องการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงร่วมกับบริษัท Euroavia International ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการจัดงานการประชุมต่างๆ ระดับโลก การให้คำปรึกษาและพร้อมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ จัดการประชุม Asia Air Cargo Summit 2018 ระหว่างวันที่ 29 – 31 ม.ค.61 เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้แทนจากท่าอากาศยานและสายการบินทั่วโลกจำนวนกว่า 160 คนได้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการให้บริการกิจการการขนส่งสินค้าทางอากาศ

สำหรับหัวข้อในการประชุม Asia Air Cargo Summit 2018 จะแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ได้แก่ ภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานโลก และการขนส่งสินค้าทางอากาศของโลก (The Big Picture on Global Supply Chain) เครือข่ายผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าภายในภูมิภาคเอเชีย (Intra-Asian Freighter Networks) ผลกระทบของอุตสาหกรรมการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Impact of E-Commerce on Air Freight) การพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ (What’s the Next in Airport/Cargo Hub Development)

ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 60 สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) คาดว่ามูลค่าการขนส่งสินค้าทางอากาศในปี 61 จะเติบโตประมาณ 4% และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5% เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของ ทอท.ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีสินค้าและไปรษณียภัณฑ์เข้า – ออก ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่งเมื่อปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 - กันยายน 2560) รวมทั้งสิ้น 1.57 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.89% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย ทสภ.เป็นท่าอากาศยานที่เป็นประตูการค้าหลักด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศมีสินค้าและไปรษณียภัณฑ์เข้า – ออก 1.42 ล้านตัน (เมื่อปีงบประมาณ 2560) ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 12.45%

นอกจากนี้ ทอท.มีแนวคิดที่จะผลักดันและส่งเสริมให้เกิดศูนย์การกระจายสินค้าสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าทางโลจิสติกส์สูง อาทิ ศูนย์กลางการกระจายสินค้าการเกษตร ศูนย์คัดกรองคุณภาพสินค้า ศูนย์กลางการกระจายสินค้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์ โดยให้ตั้งรวมกันอยู่ภายใน ทสภ.ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Logistic park หรือศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของประเทศและภูมิภาค นอกจากนั้น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ส่งผลให้ ทสภ.ได้รับสิทธิพิเศษในการงดเว้นใบอนุญาตตามกฎหมายควบคุมสินค้าผ่านแดนของแต่ละกระทรวง นอกเหนือจากกฎหมายของกรมศุลกากรตามมาตรา 152 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศสามารถดำเนินกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ได้มากขึ้น และยังสามารถนำสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงเข้ามาพักที่เขตปลอดอากร ทสภ.เพื่อสำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ได้

สำหรับ ทสภ.ถือว่าเป็นท่าอากาศยานที่เป็นประตูการค้าหลักด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศ เนื่องจากมีปัจจัยหลักที่สำคัญ 5 ประการในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Suvarnabhumi International Multimodal : SIM Port) ได้แก่ (1) ทำเลที่ตั้งของ ทสภ.ที่เป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคม (Location and Connectivity with Multi-Modal Transport) (2) ทสภ.มีพื้นที่ปลอดอากร (Free Zone area (Tariffs and Non-Tariff Barriers free)) (3) ทสภ.เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า (Logistics Support Area (Airport Logistics Park)) (4) ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศรายใหญ่ให้บริการ ณ ทสภ.(Thai Cargo Terminal ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ WFS-PG Cargo) และ (5) ทสภ.สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าได้อีกมาก (Load Factors Availabilities) ซึ่งปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ ณ ทสภ.เพิ่มมากขึ้น ทำให้ ทสภ.เป็นท่าอากาศยานอันดับที่ 21 จาก 30 อันดับที่มีการขนส่งสินค้าทางอากาศมากที่สุดของโลก หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.45% ของอัตราการเติบโตด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ และ ทสภ.มีขีดความสามารถในการรองรับปริมาณสินค้าและไปรษณียภัณฑ์เข้า – ออกได้ 1.7 ล้านตันต่อปี และยังสามารถขยายขีดความสามารถในการรองรับสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ได้ถึง 3 ล้านตันต่อปี

นายนิตินัย กล่าวว่า ทอท.ได้ตระหนักถึงบทบาทการเป็นรัฐพาณิชย์ที่จะสร้างความมั่นคง และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยบริหารท่าอากาศยานอยู่บนความสมดุลระหว่างบริบทเชิงรัฐที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน และบริบทเชิงพาณิชย์ที่จะต้องสร้างรายได้เพื่อนำไปพัฒนาท่าอากาศยาน เสริมศักยภาพของประเทศ และความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศและบริการเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ รองรับกับทิศทางและยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศที่กำหนดให้ประเทศ "เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค (Aviation Hub) ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมให้บริการทุกระดับที่ปลอดภัย" ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ