นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เวนเวอร์ส (JVC) ในกลุ่ม บมจ.เจมาร์ท (JMART) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถระดมทุนในรูปแบบเปิดเสนอขายดิจิทัล โทเคนต่อประชาชนครั้งแรก Initial Coin Offering (ICO) ในระบบ Blockchain โดยการออกดิจิทัลโทเคน "JFin Coin"ตามกำหนดกลางเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่าจะเริ่มซื้อขาย JFin Coin ในตลาดรอง หรือ TDAX ได้ภายในวันที่ 1 เม.ย 61
อย่างไรก็ตาม หากการเปิดขาย JFin Coin ครบทั้งจำนวนที่กำหนดไว้เร็วกว่าคาด บริษัทก็จะไม่มีการเปิดการขายเพิ่มเติมอีก และเลื่อนกำหนดการวันซื้อขายใน TDAX ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญ Cryptocurrency ชื่อดังในประเทศไทยให้เร็วขึ้น
"สิ่งสำคัญคือการทำให้มี ICO ในไทยให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพและมีการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ โดยเงินทุนที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะนำไปใช้เพื่อการสร้างและพัฒนาระบบ DDLP (Decentalize Digital Lending Platform) ให้กับ เจ ฟินเทค ในการให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลซึ่งไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร อาทิ การปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น"นายธนวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ JVC จะระดมทุนจำนวน 100 ล้านเหรียญโทเคน จากทั้งหมดมี 300 ล้านเหรียญโทเคน เสนอขาย ราคาโทเคนละ 6.6 บาท (เทียบได้กับ 0.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ระดมทุนราว 660 ล้านบาท ใช้พัฒนาระบบ Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) โดยนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ แบ่งเป็น ส่วนพัฒนาระบบ เทคโนโลยี และการทำ credit scoring 75% ส่วนวิจัยและพัฒนา (R&D) ค่าจ้างผู้พัฒนา ทีมแมเนจเม้นท์ 20% และ ส่วนอื่นๆ 5%
"นี่คือจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยี ที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ ขึ้นแท่นผู้นำร่องการระดมทุนด้วยดิจิทัลโทเคนที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ในปัจจุบัน และเตรียมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมโดยละเอียดผ่าน White Paper ได้ที่เว็บไซต์ www.jfincoin.io"นายธนวัฒน์ กล่าว
นักลงทุนที่ถือ JFin Coin จะได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมเพื่อพิสูจน์การทำรายการ (Validator) และสิทธิพิเศษจากการที่บริษัทมีการทำธุรกิจค้าปลีก (Utility) และนักลงทุนสามารถทำการซื้อขายในตลาดรองได้จากบริษัทพันธมิตร ผ่านกระดานซื้อขายเหรียญอย่าง TDAX
ส่วนเหรียญที่เหลือหลังจากการเสนอขาย ICO บริษัทจะนำไปเป็นส่วนตอบแทนให้นักลงทุนที่ถือเหรียญ JFin Coin จากการมีส่วนร่วมในการพิสูจน์การทำรายการและยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในบริษัท เจ ฟินเทค โดยจะคิดจากอัตราค่าธรรมเนียม และอีกส่วนหนึ่งจะนำเข้าสู่ JVC ผู้พัฒนาระบบ เพื่อใช้พัฒนาระบบต่อไป
ขณะที่มูลค่าเหรียญ JFIN Coin หลังจากการเสนอขาย ICO จะขึ้นอยู่กับกลไกลตลาด ซึ่งต้องดูปัจจัยพื้นฐาน (fundamental) ของบริษัทคล้ายกับหุ้นที่เสนอขาย IPO ว่ามีผลประกอบการดีหรือไม่ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความต้องการในตลาด
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ณ วันนี้เทคโนโลยีทางด้านการเงินเปลี่ยนไป และไร้ขีดจำกัดมากขึ้น ย้ำ JFin Coin ไม่ใช่ Bitcoin ไม่ใช่เงิน และไม่เป็นหลักทรัพย์ตามนิยามปัจจจุบัน โดย JFin Coin ที่เสนอขายนั้นเป็นโทเคนแบบ Utility Token ซึ่งนำเอามาใช้ในระบบ Blockchain ที่ JVC จะพัฒนาขึ้น เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อ
สำหรับนักลงทุนที่สนใจซื้อ JFin Coin จะมีเป้าหมายที่จะนำโทเคนไปใช้ ในระบบ และ JFin Coin เองสามารถนำไปซื้อขายในตลาดรอง คือ TDAX นอกจากนี้ บริษัทจะมีการตรวจสอบความมีตัวตนของผู้เข้ามาซื้อ JFin Coin ด้วย ผ่านระบบ KYC ของพันธมิตร
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่แย่ที่สุด หากมีกฏเกณฑ์หรือกฏหมายออกมากำกับควบคุมการระดมทุนแบบ ICO จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัทก็จะปฎิบัติตามกฏเกณฑ์ที่กำหนด เช่น นำเข้ากระดานซื้อขายที่ ก.ล.ต.กำหนด แต่ถ้าหากมีการห้ามจำหน่าย บริษัทก็อาจนำ JFin Coin ไปซื้อขายในตลาดต่างประเทศ หรือรับซื้อเหรียญคืน แต่มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะมองว่าสามารถทำประโยชน์ต่อประเทศได้มากกว่าความเสี่ยง
ด้านนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART กล่าวว่า บริษัทจะเป็นกลุ่มบริษัทมหาชนรายแรกที่นำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจสินเชื่อ ด้วยคอนเซ็ปต์ของเทคโนโลยี Blockchain คือ เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และไม่ต้องอาศัยคนกลาง นับเป็นการปฎิวัติระบบการเงินสินเชื่อ ส่วนบุคคลในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ในช่วงเริ่มต้นเงินที่ระดมทุนผ่าน ICO จะนำเอามาใช้ในการปล่อยสินเชื่อของบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ก่อน และมีแผนจะขยายไปยังบริษัทอื่นๆ ทั้งนอกกลุ่ม และในกลุ่มเจมาร์ท โดย ICO จะเปิดขาย Presale วันแรก 14 ก.พ.-28 ก.พ.61 นี้ และเปิดขายรอบ Initial Coin Offering จริง 1 มี.ค.-31 มี.ค.61
"การระดมทุนด้วยดิจิทัล โทเคน แบบ ICO อาจเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่ก็มีหลายบริษัทที่เลือก เข้ามาระดมทุนด้วยวิธีนี้กันในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นวิธีระดมทุนที่ไม่มี Dilution และไม่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย เราเองอยากเป็นบริษัทจดทะเบียนบริษัทแรกที่นำเอาเรื่องนี้เข้ามาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ในฐานะที่เจมาร์ทเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเราพยายามหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มากที่สุดในทุกขั้นตอน พร้อมยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อทำให้ Fintech เกิดได้จริงในประเทศไทย โดยทราบดีว่า แม้จะยังไม่มีกฎเกณฑ์ของหน่วยงานผู้กำกับในปัจจุบัน แต่บริษัทยินดีที่จะปฏิบัติตาม หากมีกฎเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต มั่นใจว่า ด้วยทีมบริหารที่มากประสบการณ์ และคร่ำหวอดในวงการ Blockchain ที่เข้ามาร่วมด้วย จะสร้างมาตรฐานการระดมทุนด้วย ICO ที่มีคุณภาพให้กับผู้ลงทุนได้"นายอดิศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถหา White Paper ได้ที่เว็บไซต์ www.jfincoin.io ซึ่งอธิบายรายละเอียดของโครงการระดมทุนได้ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.61 เป็นต้นไป ซึ่งบริษัทแนะนำอย่างยิ่งให้นักลงทุนได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด การลงทุนมีความเสี่ยง บริษัทจึงอยากให้ผู้ลงทุนอ่านข้อมูลให้ชัดเจน และเข้าใจก่อนลงทุน