นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เออีซี (AEC) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของ CHAYO ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.61 และคาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงินได้ภายในปีนี้
ทั้งนี้ CHAYO จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO แบ่งเป็นการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปจำนวน 105 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อผู้บริหาร (ที่ไม่ใช่กรรมการ) และพนักงานของบริษัท จำนวน 7 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการะคุณของบริษัท จำนวน 21 ล้านหุ้น และเสนอขาย ต่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท จำนวน 7 ล้านหุ้น ขณะที่ปัจจุบัน CHAYO มีทุนจดทะเบียน 280 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 210 ล้านบาท
CHAYO บริหารงานโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจโดยแบ่งธุรกิจเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ และธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า โดยบริษัทได้ดำเนินธุรกิจเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ก่อนที่จะขยายธุรกิจไปยังธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในปี 57 ต่อมาในปี 59 บริษัทได้จัดตั้งธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าเพิ่มเติม เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าที่บริษัทให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้
ภายหลังการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการซื้อกองหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเพิ่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ CHAYO มีความเชี่ยวชาญสูงอยู่แล้ว รวมทั้งผลักดันให้ผลประกอบการของ CHAYO เติบโตอย่างโดดเด่นและต่อเนื่อง
ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ CHAYO เปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะนำไปประมูลซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนที่เหลือจะนำไปจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน นอกจากนี้ การเข้าจดทะเบียนใน mai จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่น ต่อสถาบันการเงินและกลุ่มลูกค้าของบริษัท ในการบริหารงานและดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี รวมถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ด้วยความโปร่งใส
"การแข่งขันในอุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอยู่ในระดับกลางถึงต่ำ และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต ดังนั้น CHAYO จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านเงินลงทุน เพื่อประมูลหนี้ทั้งกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งแบบที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันซึ่งมีจำนวนมาก ส่วนธุรกิจให้บริการติดตามและทวงถามหนี้นั้น สถาบันการเงินหรือบริษัทในเครือของสถาบันการเงินยังมีความต้องการบริษัทหรือ Outsource ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการติดตามทวงถามหนี้อีกจำนวนมาก เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่นั้นมีบุคคลากร ในการทำงานด้านนี้ไม่เพียงพอ ประกอบกับการติดตามและทวงถามหนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและชำนาญและอาจมีต้นทุนที่สูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนหรือติดตามเอง"นายสุขสันต์ กล่าว
นายสุขสันต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทเอกชนเช่นเดียวกับบริษัท ที่มีประสบการณ์และความชำนาญมีอยู่น้อยราย และอาจมีข้อจำกัดในด้านเงินทุนจึงเป็นโอกาสที่ดี บริษัทจึงมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจเดินหน้าตามแผนการเข้าระดมทุนที่คาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ในปีนี้
สำหรับทิศทางผลประกอบการของบริษัท ปี 61 คาดว่าจะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับแผนการระดมทุนและแผนการลงทุนในปีนี้ โดยในปี 57-59 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 53.90 ล้านบาท 141.23 ล้านบาท และ 197.14 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 162.02% ในปี 58 และ 39.59% ในปี 59
ล่าสุดในไตรมาส 3/60 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 155.35 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 5.21% จากไตรมาส 3/59 โดยรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการรายได้จากการให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 16.97% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณงานของธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ รวมไปถึงธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า ซึ่งเริ่มดำเนินงานหลังจากไตรมาส 3 ปี 59 เป็นต้นมา
ขณะที่กำไรสุทธิย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 57-59 อยู่ที่ 18.81 ล้านบาท 68.94 ล้านบาท 70.89 ล้านบาท และในไตรมาส 3/60 อยู่ที่ 45.27 ล้านบาท ตามลำดับ