นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) คาดการณ์ว่า ในปี 61 รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย และ EBITDA (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงการให้บริการ 2300 MHz ที่มีกับทางทีโอที) จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนในปีนี้ที่ระดับ 15,000-18,000 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการในปี 60 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายอยู่ที่ 64,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบริการข้อมูล ส่วน EBITDA อยู่ที่ 30,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวของรายได้จากการให้บริการ
ขณะที่ค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ลดลง แต่ก็มีผลกระทบเล็กน้อยจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายโครงข่ายภายใต้ระบบใบอนุญาต
แม้ว่าค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 60 แต่กำไรสุทธิก็ยังเพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ล้านบาท เป็นผลจากการเติบโตอันแข็งแกร่งของ EBITDA และผลประโยชน์ทางด้านภาษีจากการตัดค่าเสื่อมราคาพิเศษของเงินลงทุนในปี 60 นอกจากนี้ กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน (คำนวณจาก EBITDA หักด้วยเงินลงทุน) ก็ขยายตัวเกือบเท่าตัวจากปีก่อนหน้ามาเป็น 13,900 ล้านบาทในปี 60
นายนอร์ลิ่ง กล่าวว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไร้สายของไทยยังคงขยายตัวและมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูง ดีแทคยังคงมุ่งมั่นในการเสริมสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้และก้าวขึ้นเป็นดิจิทัลแบรนด์อันดับ 1 ของประเทศภายในปี 63 เราจะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของเราให้เข้าสู่รูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับช่วยลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการให้บริการผ่านหน้าร้านแบบเดิม เราคาดหวังว่าลูกค้าจะเพิ่มการยอมรับในรูปแบบและช่องทางการให้บริการดิจิทัลของเรามากยิ่งขึ้น
"ผลประกอบการของเราในปี 50 ค่อนข้างใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของเรา ซึ่งมองว่า EBITDA มีโอกาสเติบโตสูง โดยปี 61 จะเป็นปีที่สำคัญมากสำหรับดีแทค เนื่องจากสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่จะสิ้นสุดลง โดยเรามุ่งมั่นที่จะจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายในการให้บริการดิจิทัลที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ดีแทคได้มีส่วนร่วมสำคัญในการร่วมปรึกษาหารือและให้คำแนะนำแก่ กสทช.และภาครัฐในการจัดการประมูลคลื่นความถี่จากสัญญาสัมปทานที่หมดลง ในขณะเดียวกัน เราจะลงทุนในโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริการข้อมูล และสร้างคุณค่าสูงสุดให้แก่ลูกค้า พร้อมทั้งมุ่งเดินหน้าเพื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจดิจิทัลของประเทศไทย"นายนอร์ลิ่ง กล่าว
ณ สิ้นปี 60 ดีแทคมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 22.7 ล้านราย โดย 98% ลงทะเบียนอยู่ภายใต้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือดีแทค และถือใบอนุญาตใช้คลื่น 2100 MHz จาก กสทช.จำนวนผู้ใช้บริการ 4G เพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ล้านราย ส่วนอัตราการใช้งานอุปกรณ์โทรศัพท์ที่รองรับเทคโนโลยี 4G เพิ่มขึ้นเป็น 51%
ดีแทคยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในการขยายโครงข่าย โดยเพิ่มจำนวนสถานีฐานภายใต้ระบบใบอนุญาตขึ้น 32% ในปี 60 ครอบคลุม 94% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ ดีแทคกำลังรอการอนุมัติเพื่อเปิดให้บริการไร้สายความเร็วสูงบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ภายใต้ความร่วมมือกับ บมจ.ทีโอที เพื่อเพิ่มจำนวนแบนด์วิดท์สำหรับบริการ 4G