นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม (THCOM) คาดว่า รายได้ในปี 61 ทรงตัวหรือใกล้เคียงรายได้ในปี 60 โดยจะรักษาฐานรายได้ธุรกิจดาวเทียมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท สัดส่วนราว 80-90% ไม่ให้ปรับตัวลงไปมากกว่านี้หลังในปี 60 บริษัทได้รับผลกระทบหนักจากการยกเลิกสัญญาของลูกค้ารายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ซึ่งเป็นดาวเทียมใหญ่ ปัจจุบันมีอัตราการใช้ช่องสัญญาณไม่ถึง 30-40% ซึ่ง เอ็นบีเอ็น (NBN Company Limited) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นลูกค้าหลักได้ยกเลิกสัญญาไป และบมจ.ทีโอที ก็ปรับลดการใช้ไปมาก
ขณะที่ตลาดในจีน บริษัทได้ทำสัญญาการขายช่องสัญญาณไอพีสตาร์ครอบคลุมทั่วประเทศจีน กับซีเนอร์โทน คอมมิวนิเคชั่น คอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 56 โดยช่องสัญญาณในจีนมีช่องสัญญาณดาวเทียม (Bandwidth) 24%ของช่องสัญญาณทั้งหมด(capacity) ไอพีสตาร์ แต่ที่ผ่านมามีผู้ใช้จริงน้อยมาก หรือไม่ถึง 5% ดังนั้น จึงได้เจรจากับซีเนอร์โทนขอยกเลิกสัญญา เพื่อนำไปให้รายอื่นที่มีการใช้จริงเช่าแทน เพราะบริษัทได้เข้าไปสำรวจความต้องการใช้ในจีนมาแล้วพบว่ายังมีความต้องการอีกมาก
ขณะเดียวกันบริษัทได้เจรจาพันธมิตรใหม่ในจีนอยุ่ 5-6 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงกลางปีนี้ทั้งรายใหม่ที่จะเข้ามาที่มีแนวโน้มทำสัญญามากกว่า 1 ราย และการยกเลิกสัญญากับซีเนอร์โทนก็มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการยกเลิก ทั้งนี้ บริษัทต้องการหาผู้เช่ารายใหม่เพื่อให้บริษัทได้บันทึกการใช้ช่องสัญญาณจริงก่อนที่สัญญาสัมปทานจะหมดในปี 64 และเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่สำหรับตลาดจีนในอนาคต โดยเห็นว่าตลาดจีนยังมีศักยภาพสูง ส่วนในตลาดอินเดีย มีการเติบโตต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันมีการใช่ช่องสัญญาณราว 3%จากทั้งหมดมี capacity ในตลาดอินเดีย 17%
"ในตลาดจีนมีโอกาสเยอะ มีคนอยากใช้ เราส่งทีมไปสำรวจในจีนก็พบว่ามีความต้องการใช้งาน แต่ดูเหมือนทางนั้นมี Business Plan ไม่เป็นไปแนวเดียวกับเราเท่าไหร่...Priority ต้องใช้สินทรัพย์ที่เราลงทุนไปแล้วคือดาวเทียมให้ได้มากสุด เพราะใกล้หมดอายุแล้ว"
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วงจากนี้ไปจนถึงปี 64 บริษัทจะยังไม่ลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ และพยายามจะนำดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 5 และ ไทยคม 6 ทำรายได้ให้มากขึ้น เพราะใกล้หมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 64 โดยดาวเทียมไทยคม 5 บริษัทมีแผนขยายระยะเวลาการใช้ออกไปอย่างต่ำ 5 ปีจากปกติดาวเทียมมีอายุการใช้งาน 15 ปี แต่เพราะไทยคม 5 มีลูกค้าเต็มช่องสัญญาณทั้งหมด ซึ่งลูกค้าอยู่ในธุรกิจทีวีดิจิทัล ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 6 ที่มีช่องสัญญาณในตลาดในประเทศไทย และแอฟริกา สัดส่วน 50:50 ซึ่งตลาดในไทยค่อนข้างเต็ม แต่ในตลาดแอฟริกามีอัตราการใช้ช่องราว 20% โดยที่ผ่านมาตลาดมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งในปีนี้บริษัทก็จะพยายามเพิ่มลูกค้าในแอฟริกามากขึ้น
การลงทุนดาวเทียมดวงใหม่มีต้นทุนสูงพอสมควรในขณะที่สถานการณ์มีการแข่งขันสูง ดีมานด์น้อยกว่าซัพพลาย อีกทั้ง บริษัทยังมีข้อพิพาทกับรัฐ เรื่องใบอนุญาตกิจการดาวเทียม ที่ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ได้รับแล้ว และดาวเทียมไทยคม 4, 5 และ 6 เป็นสัญญาสัมปทาน ซึ่งถ้ายังไม่มีความแน่นอนก็ยากที่จะพิจารณาอนุมัติการลงทุนใหม่ อย่างไรก็ตาม บริษัทจะบริหารดาวเทียมที่ลงทุนไปแล้วให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
"ดาวเทียมดวงใหม่ต้องดูเรื่องเทคโนโลยี และราคา หากมีการแข่งขันกันมากไม่ต้องส่งดาวเทียมใหม่ แต่เราจะซื้อ capacity ดาวเทียมดวงอื่นมาใช้งานแทน จัดหาแพ็กเกจให้ลูกค้า"
ทั้งนี้ ข้อพิพาทกับรัฐ อยู่ระหว่างการตั้งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งขณะนี้ต่างฝ่ายกำลังพิจารณาคุณสมบัติผู้มาเป็นอนุญาโตตุลาการ โดยนายไพบูลย์คาดว่าเรื่องนี้คงใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะได้ข้อสรุป อย่างไรก็ดี เชื่อว่าน่าจะมีการเจรจาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
ส่วนดาวเทียมไทยคม 9 ระงับการลงทุนไปแล้วที่ก่อนหน้านี้มีแผนลงทุนซึ่งมี Soft Bank จากญี่ปุ่นจะเช่าช่องสัญญาณแต่ก็มีข้อพิพาทการรักษาสิทธิของดาวเทียมดวงที่ 9 ในตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก เมื่อเรื่องล่าช้าทาง Soft Bank ก็ขอยกเลิกไป
แม้ว่าธุรกิจดาวเทียมจะลดบทบาทความสำคัญ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย แต่เชื่อว่าธุรกิจดาวเทียมยังไม่หมดไปจากโลก เพราะหลายอย่างที่ดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีสิ่งอื่นมาทดแทนได้ ได้แก่ ธุรกิจ Broadcast , การเป็น Back up ตัวอย่างกรณีเกิดภัยพิบัติ ที่จะใช้สื่อสารผ่านดาวเทียมได้เท่านั้น
ขณะเดียวกันบริษัทได้มองหาธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนรายได้จากธุรกิจดาวเทียม ซึ่งบริษัทตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่สัดส่วน 50% หรือราว 5 พันล้านบาท และรายได้จากธุรกิจดาวเทียมลดสัดส่วนไปเหลือ 50% โดยได้เริ่มธุรกิจ Marine time ที่ให้บริการเรือขนส่ง เรือเดินทะเลที่วิ่งตามชายฝั่ง หรือวิ่งข้ามประเทศ ซึ่งมาร์จิ้นไม่สูงมาก และอีกธุรกิจได้เริ่มเมื่อปลายปีที่แล้วคือเปิดตัวแอพพลิเคชั่น "LOOX TV" ที่รวบรวมคอนเทนต์ทีวี และวัดเรทติ้งจากผู้ชมจริง โดยปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดกว่า 1 แสนราย ซึ่ง active อยู่ 2 หมื่นราย โดยปีนี้คาดว่าจะมียอดดาวน์โหลด 3-4 แสนราย ซึ่งเป็นระดับวัดเรทติ้งได้ดี และคาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้
นอกจากนี้ก็ยังพิจารณาธุรกิจใหม่ ๆ อีกโดยจับตาเรื่อง AI , IoT , Bitcoin บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100-200 ล้านบาท ในการริเริ่มธุรกิจใหม่ หากเป็นโครงการที่ดีบริษัทพร้อมลงทุน รวมทั้ง Start up ที่บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH)ดำเนินการอยู่หากธุรกิจใดที่บริษัทสามารถนำไปต่อยอดก็จะพิจารณามาดำเนินการต่อ เพราะฐานะการเงินบริษัทแข็งแรง สามารถกู้เงินได้ และยังมีกระแสเงินสดอีก 4 พันล้านบาท
"แนวโน้ม 4 ปีนี้เราจะไม่ลงทุนดาวเทียม เราจะมี New Business ศึกษาความเป็นไปได้ และพยายามหาจุดแข็งของไทยคม...เราจะเป็นผู้นำธุรกิจดาวเทียมและดิจิทัลแพลตฟอร์มแห่งเอเชีย" นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับการขายหุ้นบมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL) ให้กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) นั้นคาดบันทึกเป็นกำไรพิเศษราว 1.6 พันล้านบาทในไตรมาส 1/61 หลังกระบวนการซื้อขายเสร็จสิ้น