นายสุทธิสิทธิ์ แจ่มดี รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยมุมมองภาพรวมมาร์เก็ตแชร์ Derivative Warrants (DW) ใน SET ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 3-5% จากปีก่อน 2.7% หลังมีปัจจัยในประเทศทั้งเรื่องเลือกตั้ง, โครงสร้างพื้นฐานของไทย และเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิเ รื่องอัตราดอกเบี้ย รวมถึงใกล้ประกาศผลประกอบการแต่ละไตรมาสที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้น ส่งผลให้นักลงทุนหันมาเก็งกำไร DW อ้างอิงหุ้นรายตัวเพิ่มขึ้น หนุนปริมาณการซื้อขาย DW สูงขึ้น
ภาพรวมของแนวโน้ม DW ในปีนี้ คาดว่ายังเป็นมุมมองในเชิงบวกต่อ Call DW มากกว่า Put DW ตามภาวะตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าโบรกเกอร์ต่างจะออกซีรีย์ Call DW มากกว่าปี 60 ที่ภาพรวมมี DW เพิ่มขึ้นในตลาดเกือบ 300 รุ่น ด้านปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.25 พันล้านบาท/วัน โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาลักษณะการถือ Call DW นานมากขึ้นระดับสัปดาห์-เดือน ตามภพรวมของตลาดหุ้นที่บวก
"Call DW ที่โบรกเกอร์ออกมีมากกว่า Put DW เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการยืมหุ้นอ้างอิงมาป้องกันความเสี่ยง ซึ่งโบรกเกอร์จึงเน้นออก Call เพื่อตัดปัญหาดังกล่าว "นายสุทธิสิทธิ์ กล่าว
ด้านแนวโน้มการออก DW ของโบรกเกอร์ในปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่มีแนวทางการออก DW แบบ Out of the Money มากกว่า In the Money เนื่องจากให้อัตราทดที่สูงกว่า และภาพรวมของ DW ในปีก่อนมีสถานะคงค้างเพิ่มขึ้น 71.2% สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนรายย่อยสนใจเก็งกำไรเพิ่มมากขึ้น
ในปี 61 บล.กสิกรไทยในส่วนของ DW (KS DW11) ตั้งเป้าครองสถานะคงค้างแตะอันดับ 3 หรือมีมาร์เก็ตแชร์ราว 8% ของโบรกเกอร์ที่ออก DW ทั้งหมด จากปีก่อนที่อยู่อันดับ 5 หรือมีมาร์เก็ตแชร์ราว 10% ของโบรกเกอร์ที่ออก DW ทั้งหมด หลังรุกให้ความรู้ลูกค้า,เน้น DW รุ่นหยุดเวลา และปรับปรุงระบบดูแลสภาพคล่องโดยมีแผนการเปิดตัว FinTech ในช่วงกลางปีนี้
ส่วนมาร์เก็ตแชร์ด้านปริมาณการซื้อขายของ DW ปีก่อน DW11 อยู่อันดับที่ 4 โดยปีนี้ยังไม่คาดหวังเป้าหมายใหม่ แต่จะเน้นในส่วนของการถือครองสถานะคงค้างมากกว่า โดย บล.กสิกรไทยมีเครื่องมือการลงทุน DW หรือแอพพลิเคชั่นอย่าง KS Super Derivatives ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 15,000 ครั้ง และมี KS Warrants website ที่เป็นเครื่องมือในการคำนวณราคาในอนาคตสำหรับ DW 11 นอกจากนี้เป็นเจ้าแรกที่กำหนดราคาเสนอซื้อและขายให้กับ DW11 ทุกตัว