นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ปี 61 จะเติบโตราว 8-10% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.30 ล้านล้านบาท โดยปีนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะออกกองทุนเพิ่มอีก 5-8 กองทุน และตั้งเป้าหมายฐานลูกค้าที่ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิตอล (Digital-based Users) เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของจำนวนลูกค้ากองทุนรวมทั้งหมด จากปีก่อนอยู่ที่ 30% และมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการผ่านช่องทางดิจิตอล (Digital-based AUM) เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของ AUM กองทุนรวมทั้งหมด จากปีก่อนที่อยู่ที่ 21%
ทั้งนี้กลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯยังคงตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำในธุรกิจกองทุนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุน และช่องทางการให้บริการ รวมถึงเครื่องมือช่วยการลงทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับรูปแบบการลงทุนที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ ได้ชูคอนเซ็ปต์ "Digital Wealth Platfrom 4.0" เพื่อต่อยอดการนำนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาช่วยทำการลงทุนให้เป็นเรื่องง่ายสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
"ในแง่ของ platform ที่เรียกว่า Wealth Management Platform คือเราเตรียมตัวเพื่อจะตอบโจทย์การแข่งขันในอนาคตอันใกล้ ซึ่งอันแรกที่จะเข้ามาแน่ๆคือเรื่องของการเปิดกว้างผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายต่างๆ สามารถจะเอาผลิตภัณฑ์ไปขายได้ และอีกด้านคือการตอบรับสู่ Wealth Management Solution ลงเข้าไปในแต่ละบุคคล โดยการเตรียมตัวตรงนี้บลจ.กสิกรไทย เรามองไว้ทั้งหมด 3 ด้าน คือ การสร้างกระบวนการการจัดการลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและถูกต้องแม่นยำ เช่น การใช้นวัตกรรม Big Data เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุน หรือการสร้างแบบจำลองการลงทุนโดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิติในอดีต เพื่อคาดการณ์หาผลตอบแทนที่คาดหวัง เป็นต้น ,การสร้างผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีคุณภาพให้มีผลการดำเนินงานที่ดีสม่ำเสมอ และการสร้างเครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมช่วยให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมแก่ลูกค้า"นายวศิน กล่าว
นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนตราสารหนี้ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญยังแนะนำให้ผู้ลงทุนกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้น ซึ่งมีความน่าสนใจมากกว่าตราสารหนี้ จากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าในปีนี้อาจจะไม่ปรับตัวแรงเท่าปี 60 โดยเลือกให้น้ำหนักการลงทุนในรายประเทศที่น่าสนใจ เช่น จีน,ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น จากราคาหุ้นที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ยังมีการเติบโตต่อเนื่องอีกด้วย
ส่วนในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐจำนวนกี่ครั้ง อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก แต่น่าจะเป็นเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ที่จะไหลกลับเข้าสหรัฐฯ หรือไม่ หลังจากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งหากเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐฯ ประเมินว่าน่าจะไหลกลับไม่เร็ว จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทยยังสูงกว่าพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่ประเทศไทย มองแนวโน้มทั้งปีน่าจะยังไม่เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่ายังคงอัตรากอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ตามเดิม เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ,ธนาคารพาณิชย์ยังคงตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตเฉลี่ย 4-6%
ด้านน.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนตราสารทุน บลจ. กสิกรไทย กล่าวถึงมุมมองตลาดหุ้นไทยว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 61 น่าจะปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 1,850 จุด บนปัจจัยพื้นฐานที่ระดับ P/E ประมาณ 16.5 เท่า จากอัตราการเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ 10% บวกกับแรงหนุนเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยมองการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ปีนี้น่าจะมีโมเมนตัมที่ดีกว่าหุ้นขนาดเล็ก ขณะเดียวกันการลงทุนใสตราสารหนี้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อีก 3 ครั้งในปี 61 ทำให้ความน่าสนใจของการลงทุนในตราสารหนี้ลดลง
อย่างไรก็ตาม มองว่าตราสารหนี้เอเชียจะให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯมีต่ำกว่า รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มีเสถียรภาพและยังดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติได้ดี
"เรามองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจลงทุนอยู่ เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศค่อนข้างสูง และการส่งออกที่ค่อนข้างดี โดยเรามองดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1,850 จุด และคาดว่าในระหว่างปีก็น่าจะขึ้นไปแตะ 1,900 จุดได้ ขณะเดียวกันเราก็มองถึงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในไตรมาส 4/61 คิดว่าตลาดน่าจะมีความกังวลต่อสภาพคล่องที่จะลดลงในปีหน้า เราจึงคิดว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ ความผันผวนจะเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุน"น.ส.ธิดาศิริ กล่าว
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า มองแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้น่าจะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 3.8-3.9% จากการส่งออกโลกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีนี้ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ในช่วงไตรมาส 4/61 หลังจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ,การปรับลดงบดุลของสหรัฐฯ และการเริ่มลดมาตรการการเงิน (QE) ของยุโรปและญี่ปุ่น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ ยุโรป ตะวันออกกลาง สหรัฐฯและเกาหลีเหนือ อาจส่งผลต่อความผันผวนที่จะสูงขึ้น จึงแนะนักลงทุนให้กระจายการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญ