นายจื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมออกและเสนอขายตราสารด้อยสิทธิ ครั้งที่ 1/2561 อายุ 10 ปี 6 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2571 โดยธนาคารมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดได้หลังจาก 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร หรือตามเงื่อนไขที่กำหนด ราคา 1,000 บาทต่อหน่วย มูลค่าจองซื้อขั้นต่ำสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน 100,000 บาท และทวีคูณของ 10,000 บาท และมูลค่าจองซื้อขั้นต่ำสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ 100,000 บาท และทวีคูณของ 100,000 บาท กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือนตลอดอายุของตราสาร
ทั้งนี้ การเสนอขายตราสารครั้งนี้เป็นการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ครั้งแรกของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) โดยเปิดจำหน่ายผ่าน 2 สถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารกสิกรไทย
"การเสนอขายตราสารครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายเงินกองทุนของธนาคาร ให้มีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สำหรับเพิ่มขีดความสามารถในการขยายสินเชื่อ และรองรับการขยายตัวของธนาคารในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายธุรกิจระหว่างประเทศไทยและจีน ซึ่งธนาคารมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีความคล่องตัวในการให้บริการ และจากการที่ธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารไอซีบีซี ทำให้ลูกค้าของธนาคารสามารถเข้าถึงการให้บริการผ่านเครือข่ายของกลุ่มธนาคารไอซีบีซี ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดและมีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศจีน รวมทั้งมีเครือข่ายในต่างประเทศที่ครอบคลุมทั่วโลกอีกด้วย โดยธนาคารไอซีบีซีวางกลยุทธ์ในการทำธุรกิจระยะยาวในประเทศไทย"นายจื้อกัง หลี่ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานล่าสุดงวด 6 เดือนปี 60 ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) มีกำไรสุทธิ 907 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากงวดเดียวกันของปี 59 โดย ณ เดือน มิ.ย.60 ธนาคารมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 202,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จากสิ้นปี 59 และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 1.37%
สำหรับผลการดำเนินงานปี 59 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,470 ล้านบาท ณ เดือน ธ.ค.59 ธนาคารมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 186,053 ล้านบาท และเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 1.49%
ทั้งนี้ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ "AAA" แนวโน้ม "คงที่" เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน และตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ "AA+" จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับการออกตราสารดังกล่าว เป็นตราสารประเภทด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ชนิดระบุชื่อผู้ถือ และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นตราสาร ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสามารถรองรับผลขาดทุนของธนาคารได้เมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยมีลักษณะพิเศษ คือ ให้สามารถตัดหนี้ (ทั้งจำนวนหรือบางส่วน) ของตราสารเป็นหนี้สูญได้ เมื่อทางการตัดสินใจเข้าช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)