นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) คาดว่ากำไรปี 61 จะดีกว่าปีก่อน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 9 ล้านตันอ้อย และผลตอบแทน (yield) จากผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำตาลน่าจะดีขึ้นเล็กน้อยมาที่ราว 15-16 เซนต์/ปอนด์ จากเฉลี่ยราว 14 เซนต์/ปอนด์ในปีที่แล้ว โดยมองว่าราคาน้ำตาลน่าจะผ่านจุดต่ำสุดที่ราว 11-13 เซนต์/ปอนด์มาแล้วในช่วงปลายปีก่อน และน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ดีขึ้นจากที่คาดว่าจะไม่มีการลงทุนใหม่ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาระดับดังกล่าวไม่สามารถทำกำไรได้
รวมถึงคาดว่าการผลิตไฟฟ้าในปีนี้จะเดินเครื่องได้ดีขึ้น จากปริมาณชานอ้อยซึ่งเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่มีเพิ่มขึ้น ประกอบกับการซ่อมบำรุงน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมด 3 โรงงาน กำลังผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ (MW)
"ผลประกอบการภาพรวมดีขึ้น เพราะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากขึ้น แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่ยังอยู่ระดับต่ำ จากระดับราคาน้ำตาลปกติควรอยู่ที่ 18 เซนต์/ปอนด์ ส่วนโรงไฟฟ้าก็เดินเครื่องได้ครบทำให้รับรู้ได้เต็มที่และปริมาณชานอ้อยก็เยอะตามปริมาณอ้อย ทำให้ผลิตได้มากขึ้น"นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมที่จะลงทุนผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยในปีนี้ หลังมองว่าตลาดยังคงเติบโตได้ดี อีกทั้งบริษัทมีวัตถุดิบอยู่แล้ว ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท จากปัจจุบันที่บริษัทเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต (OEM) บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวให้กับจีน แล้วจีนนำไปส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะเปลี่ยนระบบบัญชีจากปัจจุบันที่เป็นปีปฏิทิน (ม.ค.-ธ.ค.) เป็นปีตามฤดูการหีบอ้อย โดยอาจจะเริ่มต้นเดือน ต.ค.-ก.ย. หรือเริ่มต้นเดือน พ.ย.-ต.ค.ของทุกปี เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงเวลาหีบอ้อยของแต่ละปี ซึ่งก็จะได้นำหารือในที่ประชุมคณะกรรมการต่อไป
ขณะที่ในวันนี้ KTIS และบมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในพื้นที่นำร่อง จ.นครสวรรค์ โดยทั้งสองฝ่ายถือหุ้นร่วมกันฝ่ายละ 50% ซึ่ง KTS จะรับผิดชอบด้านวัตถุดิบคืออ้อย ซึ่งจะสร้างใหม่โดยไม่กระทบต่ออ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลอยู่เดิม
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า การลงทุนดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่ 2 พันไร่ ที่จะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอจัดตั้งนิคมฯ โดยเฟสแรกจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 7.65-8 พันล้านบาท ในพื้นที่ 1 พันไร่ ลงทุนเอทานอล ,ไฟฟ้า และโรงหีบอ้อย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก่อนจะเริ่มพัฒนาเฟส 2 ที่จะเป็นการลงทุนพลาสติกชีวภาพต่าง ๆ ซึ่งในระหว่างนี้บริษัท และ GGC จะร่วมกันออกไปนำเสนอข้อมูลการลงทุน (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ โดยในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้จะไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมฯในระยะต่อไป