นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวนในกรอบ 1,750-1,790 จุด โดยหากดัชนีปรับลงถึงแนวรับมีโอกาสรีบาวด์ได้
ทั้งนี้ หากนักลงทุนจะซื้อเพิ่ม แนะนำทยอยซื้อสะสมที่บริเวณแนวรับ ทั้งนี้หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับได้แก่ TPCH ได้ประโยชน์จากกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเล็งใช้พลังงานชีวมวลผลิตไฟฟ้าในจังหวัดชายแดนใต้ระหว่างรอสรุปความชัดเจนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคใต้ 3 แห่ง หุ้น AMATA , WHA ได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายอีอีซีที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น และ หุ้น AIT, ITEL มีประเด็นเก็งกำไรจากกรณีที่กสทช.เตรียมประมูลเน็ตชนบทในเดือน ก.พ.61
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงต้องจับตาการประชุมสภาคองเกรสสหรัฐฯก่อนที่งบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ก.พ. 61 เพื่อไม่ให้สหรัฐต้องชัตดาวน์อีกในวันที่ 9 ก.พ.61 และการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีกำหนดประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 8 ก.พ. 61
ด้านตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยกดดันจากการร่วงลงแรงของตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ได้รับผลกระทบจากบอนด์ยิลด์ร่วงลงจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 ครั้งหลังมีรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่แข็งแกร่งเกินคาดโดยเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่งดีกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ตอกย้ำว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.นี้ตามที่ได้ส่งสัญญาณก่อนหน้านี้
โดยจำนวนครั้งที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มเป็น 4 ครั้งจากคาดการณ์เดิม 3 ครั้ง นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมันปรับลดลงจากความกังวลเรื่องจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 6 แท่น สู่ระดับ 765 แท่น บ่งชี้ถึงการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ส่งผลลบเชิงจิตวิทยาต่อราคาหุ้นน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่องก่อนหน้านี้
ส่วนปัจจัยในประเทศที่ส่งผลเชิงบวกต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง หนุนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับสูงสุดรอบ 36 เดือน และกระแสคาดการณ์ว่าร่างพรบ.อีอีซี จะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสนช.วาระ 3 ราว ในเดือนก.พ.61 หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนในการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ยังผันผวนต่อเนื่องมีซื้อสุทธิสลับขายสุทธิโดยในช่วง 1 เดือนย้อนหลังขายสุทธิสะสมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวถึงแนวทางการลงทุนในทองคำว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นร่วงลงวันเดียวหนักสุดในรอบกว่า 1 ปี และมีแนวโน้มจะเผชิญแรงขายต่อเนื่อง หลังการทะยานขึ้นไม่หยุดของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ส่งผลให้นักลงทุนปรับพอร์ตด้วยการขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง ภาพรวมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯจึงอาจปรับแข็งค่าขึ้นได้อีกจากการไหลเข้าของเม็ดเงิน กดดันราคาทองคำให้ดิ่งลงสวนทาง สอดคล้องกับสัญญาณทางเทคนิคที่เตือนแรงขายหลังราคาหลุดเส้นแนวโน้มขาขึ้น พร้อมการอ่อนแรงของ MACD, RSI และ stochastic จึงคาดการณ์ราคาลดระดับลงสู่แนวรับ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์
โดยให้คำแนะนำเก็งกำไรสั้นๆเพื่อลดความเสี่ยงจากเงินบาทที่ผันผวนสวนทางกับราคาทองคำ และแนะนำพอร์ตระยะกลางถึงยาวให้ wait & see รอจังหวะเข้าทำ Dollar Cost Average เมื่อระดับราคาลงต่ำกว่า 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์