บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) และบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในพื้นที่นำร่อง จังหวัดนครสวรรค์ โดยการลงทุนเฟสแรกจะใช้เงินราว 7.65 พันล้านบาท คาดจะสร้างรายได้ราว 4.58 พันล้านบาท/ปี เริ่มรับรู้รายได้ในปี 64 ขณะที่มองรายได้ในปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว จากปริมาณการใช้ไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้น และการเปิดโรงงานแห่งที่ 2 ในช่วงกลางปีนี้จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานรวม
นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ ของ GGC กล่าวว่า การลงทุนร่วมกับ KTIS ในครั้งนี้จะมีสัดส่วนการลงทุนฝ่ายละ 50% ซึ่งจะก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) บนพื้นที่ 2,000 ไร่ ในอ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ แบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ใช้เงินลงทุนราว 7.65 พันล้านบาท ประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทานอล ขนาด 6 แสนลิตร/วัน หรือราว 2 แสนตัน/ปี , โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 85 เมกะวัตต์ (MW) และโรงหีบอ้อย 2.4 ล้านตัน/ปี โดยจะหีบอ้อย เป็นน้ำอ้อย เพื่อผลิตเป็นไบโอเอทานอล และต่อยอดเป็นพลาสติกชีวภาพอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งจะเป็นการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ที่จะมีโรงงานเคมี และพลาสติกชีวภาพ รวมถึงโรงงานอาหารเสริมอื่น ๆ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนราว 1-3 หมื่นล้านบาท
โดยการลงทุนระยะที่ 2 มีโอกาสที่จะดึงพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เนื่องจากเป็นการลงทุนภายใต้เทคโนโลยีเพื่อก่อให้เกิดโรงงานด้านพลาสติกชีวภาพ ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ก็เตรียมที่จะออกไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนในญี่ปุ่น เพื่อชักชวนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมไบโอคอมเพล็กซ์ บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ
ทั้งนี้ การลงทุนก่อสร้างนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ ในพื้นที่จ.นครสวรรค์ ครั้งนี้ คาดหวังผลลัพธ์ในระยะ 5-10 ปีจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ในระยะเริ่มต้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขั้นเป็น 6-7.5 หมื่นบาท/คน/ปี จากอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10,000 ครัวเรือน (อ้อย) เกิดการจ้างงานในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมี และพลาสติกชีวภาพกว่า 400 ตำแหน่ง ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่จ.นครสวรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และช่วยส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 1-3 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปีด้วย
นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้มากกว่าปี 60 ที่มีเป้าหมายรายได้ราว 1.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคาดว่าปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) จะเพิ่มขึ้น จากการที่คาดว่ารัฐบาลจะใช้ B100 ผสมในน้ำมันดีเซล 7% เป็น B7 ตลอดทั้งปี และคาดหวังว่ารัฐบาลจะเริ่มทดลองใช้ B10 เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถขายไบโอดีเซลได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของโรงงานไบโอดีเซล (เมเทิลเอสเทอร์) แห่งที่ 2 จะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ก็จะช่วยสนับสนุนการขายได้ดีขึ้นด้วย โดยผลิตภัณฑ์จากโรงงานแห่งที่ 2 จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น จีน,ไต้หวัน เป็นต้น โดยรายได้ที่เติบโตในปีนี้จะมาจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในส่วนของราคาไบโอดีเซล มีแนวโน้มที่อ่อนตัวลง
สำหรับการลงทุนในช่วง 3 ปี (ปี 61-63) บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์
ด้านนายชนะศิริ วานิช ผู้อำนวยการโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ ของ GGC กล่าวว่า การดำเนินโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะแรก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปีนี้ และแล้วเสร็จในปี 63 คาดว่าจะสร้างรายได้ได้ราว 4.58 พันล้านบาท/ปี ซึ่งจะมาจากการขายเอทานอล และการขายไฟฟ้าที่มีอยู่ 85 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้ในโครงการ 50 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือราว 30 เมกะวัตต์จะจำหน่ายให้กับโรงงานในกลุ่ม หรือขายเข้าระบบหากรัฐบาลรับซื้อ โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 2/64 ขณะที่โครงการคาดว่าจะสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ในระดับ 18%