โบรกฯ แนะ"ซื้อ"PTTEP มองกำไรปี 61 โตรับราคาผลิตภัณฑ์ปรับขึ้น,ซื้อหุ้นแหล่งบงกชเพิ่ม หนุนมูลค่าหุ้น 10-14 บาท

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 8, 2018 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หลังมองกำไรสุทธิปี 61 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รับผลบวกจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจะเข้าซื้อสัดส่วน 22.22% ในโครงการบงกชจากกลุ่มเชลล์ ซึ่งจะทำให้มีสัดส่วนถือหุ้นในโครงการบงกชเพิ่มเป็นราว 66.66% อีกทั้งคาดว่าปีนี้จะไม่มีการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์จำนวนมากเหมือนในปีก่อน

ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในโครงการบงกช ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเข้าประมูลแหล่งบงกช ที่คาดว่ารัฐบาลจะออกเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) แหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณในเดือน มี.ค.นั้น การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในโครงการบงกช ยังผลักดันให้เพิ่มมูลค่าหุ้นได้ราว 10-14 บาท/หุ้นด้วย

ส่วนการที่ PTTEP เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่ชนะประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวเม็กซิโกนั้น ยังมองเป็นกลางเพราะปัจจุบันยังอยู่ขั้นตอนการสำรวจ และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วงปี 70-71 จึงยังไม่มีผลต่อสมมติฐานปริมาณการผลิตรวม

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น PTTEP ที่ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้เริ่มมี Upside จำกัด แต่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังแนะ"ซื้อ"หรือ"ซื้อเก็งกำไร"เพราะยังมีปัจจัยหนุนระยะสั้นจากการเข้าประมูลโครงการบงกช

พักเที่ยงราคาหุ้น PTTEP อยู่ที่ 114 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 1.3% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 0.58%

          โบรกเกอร์                    คำแนะนำ                ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เอเซีย พลัส                     ซื้อ                       137
          หยวนต้า (ประเทศไทย)          ซื้อเก็งกำไร                  123
          แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์                ซื้อ                       132
          เอเอสแอล                    เก็งกำไร                    132
          ไอร่า                          ซื้อ                       130
          ทรีนีตี้                        ซื้อเก็งกำไร                  125
          ทิสโก้                          ถือ                       110

นายเบญจพล สุทธิ์วนิช รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเอสแอล กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงาน PTTEP ในปีนี้จะปรับขึ้นโดดเด่นเป็นระดับ 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% จากปีที่แล้ว จากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบและราคาก๊าซธรรมชาติ โดยประเมินราคาน้ำมันดิบในปีนี้ที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากราว 52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นมามากตั้งแต่ช่วงปลายปีก็จะสะท้อนมาที่ราคาก๊าซฯให้ขยับขึ้นตามในช่วงนี้ และราคาน้ำมันที่ยังยืนระดับสูงช่วงนี้ ก็จะทำให้ราคาก๊าซฯอยู่ในระดับสูงในปีนี้ด้วย

ด้านปริมาณขายปิโตรเลียมในปีนี้ จะอยู่ที่ราว 3.17 แสนบาร์เรล/วัน จากระดับ 2.99 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว โดยเป็นปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นมาจากการเข้าซื้อหุ้นโครงการบงกชเพิ่มอีก 22.22% จากกลุ่มเชลล์ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายไตรมาส 2/61 ซึ่งจะทำให้ปริมาณขายปิโตรเลียมของ PTTEP เพิ่มขึ้นอีกปีละ 3.5 หมื่นบาร์เรล/วัน โดยปีนี้จะรับรู้ปริมาณขายส่วนเพิ่มดังกล่าวเข้ามาเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณขายในปีนี้เพิ่มขึ้น 6% และปี 62 เพิ่มขึ้น 12%

อย่างไรก็ตาม การที่ PTTEP จะซื้อหุ้นเพิ่มในโครงการบงกชดังกล่าว ด้วยเงินลงทุนราว 750 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น นับว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผล และจะทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นโครงการบงกช เพิ่มเป็น 66.67% ขณะที่ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ PTTEP อีกราว 10 บาท/หุ้น

"เรามีมุมมองเป็นบวกจากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในแหล่งบงกช ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ PTTEP ที่ต้องการซื้อ asset ที่ operate อยู่แล้ว ราคาที่ซื้อก็โอเคเมื่อเทียบกับดีลธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอื่น ๆ ซึ่งเป็นการลงทุนไม่หนักมาก"นายเบญจพล กล่าว

นายเบญจพล กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้ PTTEP ประกาศข่าวดี 2 ข่าว นอกจากการจะเพิ่มสัดส่วนลงทุนในแหล่งบงกชแล้ว PTTEP และกลุ่มผู้ร่วมทุนยังชนะการประมูลแปลงสำรวจในอ่าวเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก จำนวน 2 แปลงด้วย แต่แปลงปิโตรเลียมดังกล่าวยังอยู่ในขั้นสำรวจคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

ด้านผลการดำเนินงานระยะสั้นในปีนี้ นอกจากจะได้รับปัจจัยบวกจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นแล้ว PTTEP ยังสามารถควบคุมต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับต่ำได้ต่อเนื่อง และยังคงวางเป้าหมายมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ระดับประมาณ 70% ของรายได้จากการขาย ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 60 อย่างไรก็ตามในด้านของการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ในปีนี้ คาดว่าจะมีไม่มากเหมือนในปีก่อนที่รับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น จำนวน 511 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อการที่ PTTEP จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนอีก 22.22% ในโครงการบงกช จากปัจจุบันที่ถือสัดส่วนอยู่ 44.44% และเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ซึ่งจะทำให้มีปริมาณผลิตส่วนเพิ่มราว 1.7 หมื่นบาร์เรล/วันในปี 61 และปี 62 อีก 3.5 หมื่นบาร์เรล/วัน โดยจะรับรู้รายได้และกำไรทันทีในครึ่งหลังปีนี้

นอกจากนี้ยังจะทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นราว 50 ล้านบาร์เรล/วัน (1P) แต่จะทยอยลดลงตามปริมาณผลิตในอนาคต ขณะที่ PTTEP จะเป็นผู้ถือสัดส่วนรายใหญ่ และเป็น Operator ของโครงการบงกช ก็อาจทำให้ PTTEP และ TOTAL ซึ่งเป็นพันธมิตรในโครงการดังกล่าว มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในการเปิดประมูลโครงการบงกชที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน มี.ค.61 ก่อนที่โครงการบงกชจะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66

ทั้งนี้ เชื่อว่าดีลการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในโครงการบงกช ของ PTTEP จะได้รับอนุมัติจากกระทรวงพลังงาน เนื่องจากมูลค่าซื้อ (ก่อนภาษี) คิดเป็น 11.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (2P) และ PTTEP ยังรับภาระภาษีจ่ายแทนกลุ่มเชลล์ ซึ่งเป็นผู้ขาย และค่าใช้จ่ายรื้อถอน หากแพ้ประมูลโครงการบงกชด้วย โดยเบื้องต้นประเมินมูลค่าหุ้นเพิ่มจากการเข้าซื้อสัดส่วนลงทุน 22.22% ในโครงการบงกชไว้ประมาณ 14 บาท/หุ้น

บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่ามีมุมมองบวกต่อประเด็นการเข้าซื้อสัดส่วนเพิ่มในโครงการบงกช ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ PTTEP เพราะสามารถรับรู้ประโยชน์ได้ทันทีและอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ PTTEP เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการเพิ่มสัดส่วนโครงการบงกชจาก 44.44% เป็น 66.67% จะทำให้ปริมาณขายรวมเพิ่มขึ้น 1.8-3.5 หมื่นบาร์เรล/วัน ในช่วงปี 61-62 หรือเพิ่มเป็น 3.2 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 6% ในปีนี้ และระดับ 3.35 แสนบาร์เรล/วัน หรือเพิ่มขึ้น 12% ในปี 62 ส่งผลให้ปรับประมาณการกำไรปกติปี 61-62 ขึ้น 5-11% เป็น 3.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปี 60 และกำไร 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปี 61

ส่วนการร่วมทุนชนะการประมูลแปลงสำรวจ 2 แห่งบริเวณทางตะวันตก และทางใต้ของอ่าวเม็กซิโก ซึ่ง PTTEP มีสัดส่วนร่วมทุน 20% และ 16.67% ตามลำดับนั้น มีมุมมองเป็นกลางเนื่องจากปัจจุบันทั้ง 2 แหล่งยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจ คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ปี 70-71 ดังนั้น จึงยังไม่มีผลต่อสมมติฐานปริมาณการผลิต

ทั้งนี้ ได้ปรับราคาเหมาะสมสำหรับหุ้น PTTEP ขึ้น 7 บาท เป็น 123 บาท จากการรวมผลกระทบของการเพิ่มสัดส่วนในโครงการบงกชเข้าไป โดยแม้ราคาปัจจุบันหุ้นมี Upside จำกัด แต่ยังคงคำแนะนำ"ซื้อเก็งกำไร" เนื่องจากมีปัจจัยหนุนระยะสั้นรออยู่จากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยในเดือน มี.ค.ประกอบกับ สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่สนับสนุนการเติบโตในช่วงไตรมาส 1/61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ