BAY ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นโต 6% รองรับการเข้ามาลงทุนใน EEC

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 13, 2018 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมาซาอากิ ซูซูกิ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ในปี 61 ธนาคาร ตั้งเป้าการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ JPC/MNC ที่ 6% จากการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ และแนวโน้มการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น

ในปี 2560 ที่ผ่านมา พอร์ตสินเชื่อบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติของกรุงศรี เติบโต 5.5% อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC) ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมธุรกิจระหว่างกรุงศรีและธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด สาขากรุงเทพฯ

"กรุงศรีมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจจากต่างประเทศในการลงทุน และเพื่อร่วมผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (BOI Plus) ที่คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้มาลงทุนมากขึ้น

เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กลุ่มธุรกิจ JPC/MNC ของกรุงศรี ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่ชาวไทยที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC (EEC Area Promoter) เพื่อดูแลรับผิดชอบ ให้คำปรึกษา และสนับสนุนลูกค้าในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้กรุงศรีนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ EEC ให้แก่ลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นของกรุงศรีด้วย" นายซูซูกิ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นยังคงมองว่าภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับการลงทุน จากผลสำรวจของ JETRO ซึ่งประกาศในเดือนธันวาคม 2560 เผยว่า มากกว่า 54% ของบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในเอเชีย มีแผนที่จะขยายธุรกิจในอีก 1 หรือ 2 ปี ข้างหน้า และประมาณ 56% ต้องการขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเชื่อว่าการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ