นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC ) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีนี้ (61-63) บริษัทจะเข้าสู่ช่วงของการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโทรคมนาคม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ด้วยการสร้างโครงข่ายอนาคตที่สามารถปรับไปรองรับระบบ 5G ได้ทันที พร้อมกับการใช้งานในระบบ 2G, 3G และ 4G หรือเป็นโครงข่าย Next Gen ที่รองรับได้ทั้ง 4 ระบบ ประกอบกับมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Fixed Broadband:FBB)
ในปีนี้บริษัทใช้งบลงทุนโครงข่าย 3.5-3.8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 59-60 ที่ใช้เงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท และ 4.1 หมื่นล้านบาทตามลำดับ โดยปีนี้แบ่งงบจำนวนราว 6 พันล้านบาท ลงทุนโครงข่ายไฟเบอร์ของบรอดแบนด์ (FBB) ขยายการครอบคลุม 50 จังหวัด รองรับจำนวน 6 ล้านครัวเรือน โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มลูกค้าบรอดแบนด์เป็น 8 แสนรายจากสิ้นปี 60 อยู่ที่ 5.2 แสนราย หรือเพิ่มขึ้น 2.8 แสนราย
พร้อมทั้งขยายรายได้ลูกค้าองค์กร (Enterprise) จากปัจจุบัน 9% เพิ่มเป็น 25% ในปี 63 โดยปัจจุบันเอไอเอส และ บมจ.ซีเอส ล็อกอินโฟ (CSL) รวมกันมีส่วนแบ่งตลาด 18% จากเอไอเอส 14% และ CSL 4% ซึ่งจะให้ CSL ดูแลลูกค้าองค์กร รวมถึง Data center, Clound
ขณะเดียวกันนั้น จะวางระบบ Ecosystem เป็น AIS Digital Platform รองรับลูกค้าซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 40 ล้านเลขหมาย และ ลูกค้าบรอดแบนด์ (FBB) โดยมีแพ็กเกจร่วมกันทั้งมือถือและบรอดแบนด์
นายสมชัย กล่าวว่า นอกเหนือจากรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว ภายใน 3 ปีนี้ ADVANC จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ผ่าน AIS Digital Platform ได้แก่ รายได้จากค่าธรรมเนียมการให้บริการกับธุรกิจประกัน, ธุรกิจรถจักรยานให้เช่า Mo-Bike ที่ทำร่วมกับพาร์ทเนอร์จีน โดยทดลองในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงช้อปปิ้งออนไลน์ที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการลงทุน Data และวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเพื่อนำเสนอสินค้า ด้วยแพ็กเกจร่วมของกลุ่ม ซึ่งอนาคตจะเข้ามาเป็นรายได้ต่อครัวเรือน (Average Recenue per Home:ARPH) แทน รายได้ต่อคน (ARPU)
ทั้งนี้ เอไอเอสจะมี Digital Platform 5 platform ได้แก่ 1)VDO ร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เปิดให้ HBO , Nefflix และรายอื่นๆ 2) Mobile money platform เชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ โดยจับมือกับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ทำเป็น Retail Banking และร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ทำนาโนไฟแนนซ์ 3) IOT platform จะร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่มีสินค้าและบริการ เช่น การรวบรวมปริมาณการใช้น้ำประปาและไฟฟ้า ซึ่งเอไอเอสจะได้ส่วนแบ่งรายได้ 4) Clound ที่ให้ลูกค้า และ corporate เช่าใช้ และ 5) Partner platform ได้แก่ การขายประกันผ่าน platform ซึ่งขณะนี้มีผู้เสนอตัวเข้ามามาก , ขายเกมส์ และอื่นๆ คาดว่ารายได้ใหม่จากส่วนนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
"การเตรียมตัวของเอไอเอสใน 3 ปีนี้เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทถูก disrupt...เราก็ตั้งเป้าหมายใน 3 ปีข้างหน้าตัวแอพพลิเคชั่นต่างๆใช้งานอยู่จะถูกยกขึ้นไปในระบบ clound เพื่อลดต้นทุนของเรา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เราจะพยายามสร้าง Ecosystem ซึ่งวันนี้เอไอเอสมีทั้ง Mobile และ Fixed Broadband ซึ่ง Mobile มี 40 ล้านเลขหมายเราสามารถเป็นอินฟราสตรักเจอร์ให้อุตสาหกรรมอื่นเข้ามาร่วมกับเราได้ดังนั้นการโฟกัส Enterprise Secment , Secmentใหม่และรายได้ใหม่ๆของเอไอเอส กำลังจะเกิดขึ้น"นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 61 เติบโตประมาณ 7- 8% ซึ่งจะรวมของ CSL แต่หากคิดเฉพาะรายได้ของเอไอเอสจะเติบโตประมาณ 5-6% สูงขึ้นจากปีก่อนที่เติบโต 3-4% โดยในปีนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เช่าคลื่น อุปกรณ์ และเสาโทรคมนาคม จาก บมจ.ทีโอที จ่ายเต็มปี จากปีก่อนจ่ายไปเพียงครึ่งเดียว โดยรายจ่ายเต็มปีอยู่ที่ 9.5 พันล้านบาท/ปี แบ่งเป็นจ่ายค่าเช่าคลื่น 2100 MHz ปีละ 3.9 พันล้านบาทจนถึงปี 68, การเช่าเสาโทรคมนาคม เซ็นสัญญาปีต่อปีในราคา 3.6 พันล้านบาท แม้ว่าในเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ และค่าเช่าอุปกรณ์ 2G ปีละ 2 พันล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าในส่วนนี้เหลืออยู่ราว 3 ล้านราย
ส่วนเรื่องการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่นั้น นายสมชัย ให้ความเห็นว่า ควรรอคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่เข้ามาจัดการเพื่อความเหมาะสม และคาดว่าจะไม่มีการประมูลในช่วง 1-2 ปี โดยการประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz คงเลื่อนการประมูลออกไปก่อน และอาจจะใช้สิทธิพิเศษเพื่อให้ DTAC ได้คลื่น 1800MHz นำไปใช้หลังหมดอายุสัมปทานใน ก.ย.61 เพราะเอไอเอสกับทรูไม่เข้า ประมูล
"ทุกคนมีต้นทุนเท่ากันแล้วและหลังจากนั้นก็มารีเซ็ทใหม่ และอาจจะคาดว่าในปีนี้จะไม่มีการประมูลอะไรเลย...ผมมองว่าบอร์ดกสทช.ชุดใหม่น่าจะเป็นผู้ดำเนินการประมูลอีกดีกว่า และเชื่อว่าในช่วงสองปีก็ยังไม่มีอะไร พอปี 63 เราก็จะมีภาระจ่ายค่าไลเซ่นส์งวดที่ 4 ของคลื่น 900MHz"นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันเอไอเอสมีคลื่นความถี่อยู่ 55 MHz สามารถรองรับการใช้งานได้ประมาณ 2 ปี ส่วนคลื่น 2600 MHz คาดว่าจะไม่มีการประมูลเพราะ บมจ.อสมท.(MCOT) ไม่ยอมคืนให้กับ กสทช.
ทั้งนี้ บริษัทมีภาระจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 จำนวน 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทได้วางแผนกันกระแสเงินสดเพื่อนำไปจ่ายแล้ว เห็นได้จากที่ปรับลดนโยบายการจ่ายเงินปันผลเพื่อสะสมเงินไว้ ซึ่งแม้บริษัทจะมีขีดความสามารถในการจ่ายแต่ก็ยอมรับว่าเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก จึงขอขยายเวลาการชำระออกเป็น 7 งวด งวดละ 8 พันล้านบาท และงวดสุดท้าย 1.2 หมื่นล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าไม่ควรต้องเสียดอกเบี้ย แต่รัฐบาลอาจลดเหลือให้ผ่อนชำระ 5 งวดและเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำ
"บริษัทพยายามทำเรื่องเสนอรัฐบาล ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีก็เรียกไปคุยแล้ว เอไอเอสก็ให้มุมมองแก่รัฐบาลไปว่าการที่ขอยกเว้นดอกเบี้ย เพราะราคาประมูลเป็นราคาที่สูงที่สุดในโลก แบงก์เองก็ยังไม่กล้าปล่อยกู้ จึงขอให้ยืดเวลาชำระเงินงวดสุดท้าย โดยไม่เสียดอกเบี้ย"นายสมชัย กล่าว