อีกทั้งในปีนี้บริษัทจะรุกหนักขยายฐานลูกค้าที่ไช้บริการ e-wallet ผ่านแอพพลิเคชั่นที่บริษัทพัฒนาขึ้น คือ บี วอลเลต (Be Wallet) ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการเป็น 200,000 ราย จากปีก่อนที่มีจำนวน 20,000 ราย พร้อมกับเพิ่มบริการรับชำระเงินด้วยการสแกน QR Code ผ่านตู้เติมเงินบุญเติม และเพื่มจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมให้บริการ
ส่วนตู้กดเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญ (Vending Machine) ยังคงจำนวนตู้ที่ไม่เกิน 500 ตู้ และยังไม่มีแผนการขยายเพิ่มเติมในขณะนี้
"ปีนี้จะเป็นปีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังมีการเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดได้อีกปีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพราะการใช้บริการผ่านตู้เติมเงินบุญเติมเพิ่มขึ้นตลอด และคู่แข่งก็ไม่สามารถจะสู้เราได้ หลังจากที่ปีก่อนเรารุกหนักขยายตู้บุญเติม ทิ้งห่างคู่แข่ง และตอกย้ำความเป็นเบอร์ 1 ของเราที่มี Market share มากกว่า 50%
ส่วนที่เรามีลูกค้าที่เติมเงินตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปเข้ามามากขึ้น ส่วนนี้ก็ไม่ได้กระทบต่อรายได้และกำไรของเรา แม้ว่าเราจะไม่ได้ในส่วนค่าบริการที่เราคิด แต่เราได้ค่าบริการจาก operator ค่ายมือถือที่เข้ามาชดเชย เพราะลูกค้าเติมเงินมากขึ้น เราก็ได้ค่าบริการจาก operator เพิ่มขึ้นตาม"นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า แนวโน้มภาพรวมของธุรกิจตู้เติมเงิน"บุญเติม"ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของภาพรวมจำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินมาอยู่ที่ 71 ล้านเลขหมายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 60 จากสิ้นปี 59 มีจำนวน 70.8 ล้านเลขหมาย ขณะที่หมายเลขโทรศัพท์ทั้งระบบรายเดือนและเติมเงินรวมกันมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดย 9 เดือนแรกของปี 60 มีเบอร์โทรศัพท์ทั้งรายเดือนและเติมเงินอยู่ที่ 90 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 59 ที่ 87.2 ล้านเลขหมาย
อีกทั้งในปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องการเติมเงินโทรศัพท์มือถือได้เปลี่ยนจากที่เคยเติมเงินกับพนักงานที่ร้านหรือผ่านการซื้อบัตรเติมเงิน (ROM) เปลี่ยนมาเติมเงินผ่านตู้บุญเติมมากขึ้น ทำให้ตู้บุญเติมมีส่วนแบ่งตลาดของการเติมเงินเพิ่มขึ้นเป็น 24% อย่างไรก็ตามลูกค้าที่หันมาใช้ผู้บริการเพิ่มมากขึ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เติมเงินมือถือครั้งละ 100 บาทขึ้นไปซึ่งบริษัทจะไม่คิดค่าบริการนั้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้และอัตรากำไรขั้นต้น เพราะบริษัทได้รับค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันมีอยู่ 6 รายแทน
โดยหากลูกค้ามีมูลค่าการเติมเงินที่มากขึ้น บริษัทก็จะได้รับค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในอัตราที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันบริษัทก็ยังจะได้รับค่าบริการจากลูกค้าในกรณีที่เติมเงินต่ำกว่า 100 บาทด้วย ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปี 61 แต่อย่างใด
นอกจากนี้ การที่มีลูกค้าในกลุ่มเติมเงินมือถือตั้งแต่ 100 ขึ้นไปเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ส่งผลให้ยอดการเติมเงินมือถือ (ARPU) ผ่านตู้บุญเติมที่มีการติดตั้งมาแล้ว 6 เดือน เฉลี่ยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 29,342 บาท/ตู้/เดือนในช่วงเดือน ม.ค.61 หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. 59 ที่ 29,043 บาท/ตู้/เดือน ทำให้เป็นปัจจัยบวกต่อแนวโน้มการเติมเงินในระบบมือถือแบบเติมเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าฐานราก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของตู้บุญเติมก็มีการใช้บริการเพิ่มขึ้น และการที่มีจำนวนเลขหมายในระบบเติมเงินมากขึ้นก็เป็นผลบวกต่อยอดเติมเงินเพิ่มมากขึ้น
"ภาพรวมในระยะยาวธุรกิจตู้บุญเติมยังเติบโตได้ต่อไปเรื่อย ๆ และเราได้มีการศึกษาแล้วว่าในอนาคตก็จะยังไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาทดแทนตู้เติมเงินบุญเติมได้ ซึ่งตอนนี้ตู้เติมเงินบุญเติมถือว่าเป็นตู้เติมเงินที่ดีที่สุด มีความเสถียรและการใช้งานสะดวกที่สุด และมีบริการที่หลากหลายมากที่สุด ซึ่งเราก็ยังคงเดินหน้าเพิ่มบริการต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะเราอยากเพิ่มความถี่ในการใช้บริการของลูกค้า และปีนี้ก็ครบรอบ 10 ปีของตู้เติมเงินบุญเติม เราก็เตรียมออกแคมเปญมากระตุ้นในช่วงเดือนมี.ค.นี้"นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนเพิ่มบริการหลากหลายผ่านตู้บุญเติม เช่น การโอนเงินเข้าธนาคารเริ่มให้บริการไปแล้ว 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อยู่ระหว่างเตรียมระบบ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ และในปีนี้ยังมีอีก 2 ธนาคารที่จะเพิ่มเข้ามา คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารกรุงเทพ (BBL)
ประกอบกับยังมีการชำระค่าบริการต่าง ๆ เช่น ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือรายเดือน เติมเหรียญซื้อสติกเกอร์ไลน์ เติมเงินเกมส์คอมพิวเตอร์ และเติมเงิน e-wallet เป็นต้น และในปีนี้บริษัทจะเพิ่มบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น และเตรียมเปิดให้บริการเติมเงินมือถือเครือข่ายข้ามประเทศ เพื่อเจาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเปิดให้บริการ
นายสมชัย กล่าวว่า การที่บริษัทได้เพิ่มบริการต่าง ๆ ให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้นเพื่อเพิ่มความถี่การใช้บริการของลูกค้าให้เป็นเฉลี่ย 4 ครั้ง/ตู้/คนในปีนี้ จากปีก่อนอยู่ที่เฉลี่ย 3.5 ครั้ง/ตู้/คน และนอกจากนั้นแล้ว ในปีนี้จะครบรอบ 10 ปีของตู้บุญเติม บริษัทจึงมีแผนออกแคมเปญพิเศษครบรอบ 10 ปีให้ลูกค้าได้ลุ้นรางวัล เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นความถี่การใช้บริการตู้บุญเติมมากขึ้น โดยจะเริ่มในช่วงเดือน มี.ค.61 เป็นต้นไป ใช้งบการตลาดราว 0.08% ของยอดเติมเงินทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้บริษัทจะไม่เน้นการเพิ่มจำนวนตู้มากอย่างเช่นในปีก่อน แต่จะหันมาเน้นการบริหารจัดการคุณภาพของการเติมเงินผ่านตู้ในแต่ละจุด โดยในปีนี้จะเพิ่มจำนวนตู้เติมเงินบุญเติมเพียง 20,000 ตู้ หรือสิ้นปี 61 จะมีจำนวน 144,000 ตู้ จากสิ้นปีก่อนที่ 124,000 ตู้ หลังจากในปี 60 บริษัทได้เพิ่มจำนวนตู้ถึง 32,000 ตู้ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง รักษาอันดับ 1 ในธุรกิจตู้เติมเงิน ทำให้ทิ้งห่างคู่แข่งไปมากแล้ว หรือมีการกระจายตู้ไปครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น คิดเป็น 450 คน/ 1 ตู้
กรณีดังกล่าวทำให้ปัจจุบันบริษัทมี Market share มากกว่า 50% ทำให้การเติบโตของธุรกิจมีความสดใสในระยะยาวดังนั้น ปีนี้จะหันมาเน้นดูแลคุณภาพการเติมเงินของแต่ละจุดให้เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ ARPU ของแต่ละตู้เติบโตได้ตามเป้าหมาย 5% จากสิ้นเดือน ธ.ค.60 ที่ 32,872 บาท/ตู้/เดือน และเดือน ม.ค.61 เพิ่มขึ้นมาที่ 32,942 บาท/ตู้/เดือน เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับการเดินสายนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศของ FSMART ในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้รับเชิญเป็นการเฉพาะกิจให้ไปพบปะและให้ข้อมูลกับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 14 รายที่มาเลเซีย เป็นการเดินทางไปร่วมกับ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และในเดือนน ก.พ.นี้จะเดินทางไปให้ข้อมูลที่สิงคโปร์ หลังจากนักลงทุนมีความสนใจบริษัทมากขึ้น และรู้จักบริษัทมากขึ้น