นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) กล่าวว่า ภาพรวมของผลการดำเนินงานในปี 61 หลังจากการควบรวมกิจการและปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือในปี 60 คาดว่าจะยังจะมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในแง่ของกำไรจะเติบโตราว 5-8% กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากปีก่อนที่กำไรเติบโตก้าวกระโดดถึง 40-50% เนื่องจากรับผลบวกจากการควบรวมกิจการ ทำให้เติบโตมากกว่าปกติ
ทั้งนี้ บริษัทได้ประสบความสำเร็จในการรับโอนกิจการของ บริษัท เพรซิเดนท์ โฮลดิ้ง (PH) ซึ่งประกอบธุรกิจหลัก คือ การถือหุ้นในธุรกิจอาหารในเครือสหพัฒน์ฯ และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ บมจ.เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ (PR) และบมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ (PB) รวมถึงการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF) และ PR กลายเป็น บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA)
ธุรกรรมดังกล่าวสร้างประโยชน์ต่อ SPI ในแง่ของการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนของ SPI ไปยังธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนค่อนข้างต่ำ และยังเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารที่มีผลประกอบการที่มั่นคงและมีศักยภาพในการเติบโต โดย TF, PR และ PB เป็นผู้นำในธุรกิจบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1
นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการควบรวม TF และ PR มาเป็น TFMAMA ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ช่วยในด้านของการลดต้นทุนเนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่เหมือนกัน และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรวมธุรกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต ที่จะส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน
"ความสำเร็จของ SPI ในการควบรวมกิจการและปรับโครงสร้างธุรกิจอาหารในเครือสหพัฒน์ฯในปี 60 ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ Finance Asia นิตยสารชั้นนำระดับภูมิภาคด้านตลาดทุนและตลาดเงิน มอบรางวัล Achievement Award 2017 ให้แก่ SPI โดยความสำเร็จในครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานบริษัทและได้รับคำแนะนำจากผู้บริหารจากของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยากเห็นบริษัทจดทะเบียนในเครือสหพัฒน์ได้ขยับตัว"นายวิชัย กล่าว
นายวิชัย กล่าวอีกว่า SPI จะยังเดินหน้าลงทุนเพิ่มเติม โดยธีมการลงทุนในปีนี้เน้นไปที่ธุรกิจบริการมากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% เพื่อเข้ามาช่วยเสริมการเติบโตของธุรกิจอื่นๆ ในเครือสหพัฒน์ฯ และต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2-3 รายที่อยู่นอกเครือสหพัฒน์P เป็นธุรกิจบริการที่บริษัทสนใจและยังไม่มีในเครือ ซึ่งอาจเข้าไปซื้อกิจการ (M&A) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดมากกว่า 1 พันล้านบาท และน่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 61
พร้อมกันนั้น บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่อีก 2-3 ธุรกิจ ซึ่งจะมีการเจรจาซื้อกิจการเข้ามาเพิ่มเติม โดยจะเน้นผู้ประกอบการไทยเพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจไทยสามารถเติบโต สร้างมูลค่าและศักยภาพในการแข่งขันเทียบกับธุรกิจต่างประเทศได้ จากเดิมที่บริษัทเน้นการลงทุนร่วมกับพันธมิตรต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรญี่ปุ่น โดยบริษัทเป้าหมายในช่วง 3 ปี (ปี 61-63) จะเพิ่มมูลค่าของธุรกิจใหม่ให้แตะ 1 หมื่นล้านบาทในแต่ละธุรกิจ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในแต่ละธุรกิจราว 1 พันล้านบาท
"ธุรกิจของ SPI ในภาพรวมการเติบโตก็มาจากมาม่า ฟาร์มเฮาส์ และธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอและเครื่องสำอาง ที่ผู้บริโภคในประเทศไทยได้ให้ความไว้วางใจและเลือกใช้มาโดยตลอด มาถึงตอนนี้ซึ่งเป็นการทำงานของคนรุ่นใหม่ใน SPI ก็มีความตั้งใจที่จะผลักดันการเติบโตของธุรกิจที่มาจากธุรกิจใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งก็อยากให้มีการเติบโตเป็oหมือนกับมาม่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็น cash cow เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน สามารถทำกำไรได้ และไม่เอาเปรีบสังคม
โดยเราก็จะหันมาลงทุนกับธุรกิจที่เป็นของคนไทยมากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันศักยภาพของธุรกิจไทย จากความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจของเครือสหพัฒน์ฯ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เข้ามาเสริมในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเราวางเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจใหม่อีก 2-3 บริษัท เพื่อสร้างมูลค่าของแต่ละธุรกิจให้เป็น 1 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี โดยเงินที่เราลงทุนไปก็จะอยู่ที่ราว 1 พันล้านบาทต่อธุรกิจ"นายวิชัย กล่าว
ขณเดียวกัน บริษัทก็ยังจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือสหพัฒน์ฯที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสิ่งทอและเครื่องสำอางที่มีลักษณะธุรกิจและการใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกันในลักษณะของการควบรวมกิจการ เพื่อทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถูกลง
ปัจจุบันเครือสหพัฒน์ฯมีบริษัทที่ทำธุรกิจสิ่งทอและเครื่องสำอางที่อยู่ทั้งหมด 50-60 บริษัท ทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และอยู่นอกตลาด โดยขณะนี้ผู้บริหารหลายฝ่ายในเครืออยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักของ SPI มาจาก 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอาหาร สัดส่วน 30% ธุรกิจสิ่งทอ สัดส่วน 20% ธุรกิจเครื่องสำอาง สัดส่วน 20% ธุรกิจบริการ สัดส่วน 25% และส่วนที่เหลืออีก 5% มาจากธุรกิจอื่นๆ
ส่วนการลงทุนโครงการ J Park ศรีราชา เฟส 2 บนพื้นที่ 5-10 ไร่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มโตคิวจากญี่ปุ่น ปัจจุบันยังไม่มีแผนลงทุนแน่ชัด หลังจากเลื่อนเวลาออกไป แม้ว่าปัจจุบันจะมีคความคืบหน้าของกฎหมายที่มารองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปค่อนข้างมากแล้ว แต่ยังต้องรอติดตามภาวะของตลาดในพื้นที่ อ.ศรีราชา ว่าจะเป็นอย่างไรหลังจากการลงทุนเริ่มจริงจังมากขึ้น แต่เบื้องต้นมองว่าEEC ส่งผลให้ภาคธุรกิจหลายส่วนเข้ามาลงทุน ทั้งภาคการผลิต สถาบันการเงิน และประกัน เป็นต้น
นอกจากนั้น ในแง่ของภาคครัวเรือนยังต้องติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ศรีราชาจะคึกคักมากขึ้นหรือไม่ เพราะปัจจุบันการเดินทางโดยมอเตอร์เวย์ยังไม่ได้รับความสะดวก หลังจากภาครัฐชะลอแผนการเปิดมอเตอร์เวย์เข้าศรีราชาออกไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงการดังกล่าวที่วางแผนพัฒนาเป็นพื้นที่เช่าเพื่อขยายร้านอาหารและโรงเรียนกวดวิชา รวมถึงการพัฒนาโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ เพื่อทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นคอมมูนิตี้แห่งหนึ่งในศรีราชา โดยใช้งบลงทุนราว 2-3 พันล้านบาท