บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) ตั้งเป้ารายได้ปี 61 ซึ่งไม่รวมบริษัทย่อยจะอยู่ที่ระดับ 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 พันล้านบาท จากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 60 โดยมีประมาณการจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 9 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 4% จากปี 60 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 8 ล้านคน โดยปีนี้คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจากจีนจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 ล้านคน จากปีก่อนมีจำนวนกว่า 5 แสนคน
นอกจากนี้ ตั้งเป้าอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำในปีนี้อยู่ที่ 12 ชั่วโมงต่อวันจาก 10.4 ชั่วโมงต่อวันในปี 60 โดยหากเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จะช่วยเพิ่มรายได้ของสายการบินได้อย่างมากในปีนี้
"ในปี 60 ผลประกอบการของเราดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจ เราปรับตัวได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ในปีที่ผ่านมาเรามีจำนวนผู้โดยสาร 8 ล้านคน และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% ...ในปีนี้เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เราบินมากขึ้น บินช่วงกลางคืนไปขยายตลาดจีนมากขึ้น ในปีนี้ตั้งเป้าจะหยุดขาดทุน ปีหน้าเราก็จะขยายต่อไป"นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าปีนี้จะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 92% จากปีก่อนอยู่ที่ 86% รวมทั้งคาดว่าปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat Kilometers: ASK) เพิ่มขึ้น 29%จากปีก่อน
นายปิยะ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะหยุดขาดทุนให้ได้ในปีนี้ เพราะมีแผนการลดค่าใช้จ่ายลง 20% ของค่าใช้จ่ายรวม ซึ่งปีก่อนบริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท และเลื่อนการรับมอบเครื่องบินใหม่ไปเป็นปีหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น กับค่าเงินบาท เป็นปัจจัยที่มีผลต่อผลประกอบการปีนี้ โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันอากาศยานทั้งปี 61 เฉลี่ยอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล บริษัทมีนโยบายทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันสัดส่วน 50% ส่วนค่าเงินบาทคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 32 บาท/เหรียญสหรัฐ และมีนโยบายทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน สัดส่วน 50%
โดยปัจจุบันบริษัทมีเครื่องบินรวม 30 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 20 ลำ เครื่องบินบอมบาร์ดิเอร์ รุ่น Q400 จำนวน 8 ลำ และเครื่องบินแบบเอทีอาร์รุ่น 72-500 จำนวน 2 ลำ ทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 7.6 ปี ณ สิ้นปี 60
นายปิยะ กล่าวว่า บริษัทมีแผนรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737-MAX จำนวน 8 ลำในช่วง 3 ปีนี้ โดยปี 62 รับมอบ 4 ลำในไตรมาส 4/62 โดยลำแรกจะรับมอบในเดือนต.ค. โดยส่วนในปี 63 รับมอบอีก 2 ลำ และปี 64 รับมอบ 2 ลำ ทั้งหมดเป็นการเช่า อย่างไรก็ดี อาจจะทำในรูปแบบเช่าซื้อใน 4 ลำหลังเพราะจะช่วยให้ต้นทุนต่ำลง ทั้งนี้ 4 ลำแรก จะรองรับเส้นทางระหว่างประเทศ เพราะเครื่องบินโบอิ้ง 737-MAX เป็นเครื่องบินที่บินได้ไกล 7 ชั่วโมง ทั้งนี้ มองเส้นทางเมืองรองในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี
นอกจากนี้ ในปีนี้สายการบินนกแอร์ คาดว่าคงรักษาส่วนแบ่งตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Airlines จากปีก่อน ที่สายการบินนกแอร์มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 20% รองจากสายการบินไทยแอร์เอเชียที่มีส่วนแบ่ง 29% ส่วนอันดับ 3 เป็นสายการบินไทยไลอ้อน สัดส่วน 17% โดยภาพรวมตลาดปีนี้ คาดว่ายังมีการแข่งขันสูงอยู่
ในปีนี้ สายการบินนกแอร์ คาดว่าจะเปิดจุดบินใหม่ในจีนอีก 1-2 เมือง เพื่อทำการบินในช่วงกลางคืน และเพิ่มความถี่ในบางเมืองที่นิยม อาทิ หนานหนิง เจิ้งโจว ที่จะเน้นให้บริการในกลุ่มลูกค้าองค์กรด้วย และอาจปรับเปลี่ยนตารางบินของสายการบินนกแอร์เอง ส่วนจุดบินใหม่ในอินเดียที่เป็นเมืองรอง คาดว่าจะเปิดใหม่ได้ 3 เมือง ทำการบินได้ในครึ่งหลังปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการเจรจาสิทธิการบินกับทางการอินเดีย ขณะที่ตลาดในประเทศก็พยายามรักษาฐานผู้โดยสารไว้
ทั้งนี้ในปี 61 สายการบินนกแอร์ ตั้งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 40% จาก 20% ในปีที่ผ่านมา และมีรายได้จากการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเป็น 60% จาก 80% ในปี 60 โดยรายได้จากเที่ยวบินระหว่างประเทศจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตได้มากขึ้น ทั้งนี้นายปิยะ ได้วางแผนระยะ 5 ปี (ปี 61-65) และจะมีการทบทวนแผนทุกปี เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การแข่งขัน
ในปี 60 NOK ได้เปิดให้บริการเส้นทางใหม่ไปยังเมืองต่างๆในประเทศจีน ได้แก่ เมืองเป่าโถว เมืองฉางซา เมืองจุนอี้ เมืองเจิ้งโจว เมืองเฉิงตู เมืองต้าถง เมืองไห่โขว เมืองหลินยี่ เมืองเหมยเซี่ยน เมืองหนานชาง เมืองหนานหนิง เมืองหนานทง เมืองเหยียนเฉิง เมืองหยินชวน และเมืองอี๋ชาง โดยเป็นเส้นทางที่ให้บริการจากดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และอู่ตะเภา
นอกจากนี้ สายการบินนกแอร์จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มไทยกรุ๊ป (THAI Group) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สายการบินไทย (THAI) สายการบินไทยสมายล์ และนกแอร์ โดยอาจจะเป็นการร่วมมือกันในด้านของการจองเที่ยวบินในเส้นทางดอนเมือง - แม่ฮ่องสอน ที่นกแอร์จะเป็นผู้ทำการบิน ซึ่งผู้โดยสารจะสามารถจองบัตรโดยสารได้จากเว็บไซต์ของทั้งสามสายการบิน
"ในปีนี้ แผนการขยายธุรกิจของนกแอร์ จะมีการสร้างเครือข่ายเส้นทางที่แข็งแกร่งของเราอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญของสายการบินสองกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มไทยกรุ๊ปและกลุ่มแวลู อัลไลแอนซ์ (Value Alliance) ซึ่งทำให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และหากมองในแง่ดีสายการบินยังคงมีความสามารถในดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผนการที่ได้วางไว้ แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงก็ตาม"นายปิยะ กล่าว