(เพิ่มเติม) FPI คาดกำไรปี 61 ดีกว่าปีก่อน ประเมินรายได้โต 10% หลังมีออร์เดอร์ใหม่-รับรู้ส่วนแบ่งกำไรฯธุรกิจไฟฟ้าเต็มปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 20, 2018 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) คาดว่ากำไรปี 61 จะกลับมาเติบโตหลังจากหดตัวในปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้ต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะไม่แข็งค่าขึ้นมากเช่นในปีก่อน ขณะเดียวกันปีนี้ยังจะส่งมอบชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับคำสั่งซื้อที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะคำสั่งซื้อชิ้นส่วนของรถยนต์มาสด้า จากออสเตรเลีย ที่เริ่มส่งมอบในปีนี้ และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ (MW) ในจ.นราธิวาส ได้เต็มปีหลังจากเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อปลายเดือนมิ.ย.60

ขณะเดียวกันโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศอินเดีย ของ ALP FPI PARTS PRIVATE LIMITED ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 45% นั้น ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการผลิตแล้ว ก็จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาในปีนี้ รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 1 เมกะวัตต์ ในอ.ลอง จ.แพร่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากชีวมวล (Gasification) จะเริ่ม COD ต้นเดือน เม.ย.61 มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) สูงถึง 36-38% มากกว่า IRR จากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วไปที่อยู่ระดับ 17-18%

"ตอนนี้ดูตัวเลขของเรา profit ก็น่าจะดีขึ้น เพราะปีที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยน rate ค่อนข้างจะลงมาเยอะ ถ้า rate ไม่ลงกว่านี้กำไรควรจะเพิ่ม ตอนนี้ต้นปีเราคาดว่าอยู่ 32 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้ลงมาราว 31 บาท/ดอลลาร์ แล้ว แต่ตัวที่ profit เข้ามาเยอะจะเห็นจากอินเดียเข้ามา โรงไฟฟ้านราธิวาสเข้ามาเต็มปี และมี Gasification เข้ามาด้วย ก็ควรจะโตกว่าเดิม มองแล้ว 3 ส่วนเข้ามาน่าจะเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ"นายสมพล กล่าว

FPI ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินงานในปี 60 แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 60 บริษัทมีกำไรสุทธิ 152.85 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1.52 พันล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 59 บริษัทมีกำไรสุทธิ 285.67 ล้านบาท และมีรายได้รวม 2 พันล้านบาท

นายสมพล กล่าว่า การลงทุนธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทจะดำเนินการภายใต้ บริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ซึ่งมีผู้ร่วมทุน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย FPI, บมจ.อีสต์ โคสท์ เฟอร์นิเทค (ECF) และพันธมิตรอีก 1 ราย โดยถือหุ้นฝ่ายละ 33.37% ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 9.5 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล ในจ.นราธิวาส 7.5 เมกะวัตต์ ที่ COD แล้ว และการลงทุน 49% ในบริษัท บิน่า พูรี่ พาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล ในจ.แพร่ 2 แห่ง รวม 2 เมกะวัตต์ (MW) โดยคาดว่าจะ COD แห่งแรกในต้นเดือนเม.ย.61 ส่วนอีก 1 แห่ง คาดว่าจะ COD อีก 6 เดือนหลังจากนั้น

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ร่วมทุนตั้งเป้าจะนำ SAFE เข้าตลาดหุ้นในช่วงปี 62 หากสามารถมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือได้อย่างต่ำ 20 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมองโอกาสการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ ประมาณ 2-3 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปผลได้อย่างน้อย 1 แห่งในไตรมาส 1/61 หลังรอความชัดเจนเรื่องการต่อใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) นอกจากนี้ยังได้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการของภาครัฐด้วย โดยได้ยื่นเสนอทั้งสิ้น 4 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 40 เมกะวัตต์ คาดว่าจะรู้ผลในช่วงกลางปี 61

นายสมพล กล่าวว่า รายได้ทั้งหมดของบริษัทจะยังคงมาจากธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนกำไรก็จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าเข้ามาบ้างในปีนี้ หลังจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในจ.นราธิวาส เริ่ม COD แล้ว แต่ก็ยังนับเป็นสัดส่วนไม่มากนัก โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะรายได้หลักมาจากการส่งออกชิ้นส่วนไปต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 87% แต่ในปีนี้บริษัทก็ได้ทำประกันความเสี่ยงไว้บ้างบางส่วน รวมถึงยังจะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ,การลดต้นทุน เป็นต้น โดยปีนี้บริษัทมีแผนที่จะลงทุนราว 100 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อที่ดินรองรับการขยายงานวิจัยและพัฒนา (R&D) และลงทุนแม่พิมพ์ ขณะเดียวกันจะเน้นผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ (OEM) มากขึ้น เพราะมีมาร์จิ้นสูง

สำหรับตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ในตลาดโลก ขณะนี้นับว่ายังมีโอกาสอีกมาก เช่น ในออสเตรเลียและยุโรปที่มีมาร์จิ้นสูง โดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโอกาสของคนไทยจะที่ผลิตสินค้าป้อนให้กับตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพราะเราเซ็นสัญญา FTA ระหว่างกัน ส่วนค่ายยุโรปก็มองหาฐานผลิตในไทย, ไต้หวัน ,จีน ส่วนตลาดเอเชียตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ยังอยู่ในระดับที่ดี แต่ตลาดแอฟริกายังคงแย่ต่อเนื่องจากภาวะสงคราม และค่าเงิน ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้การนำเข้าชะลอตัวลง ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีตลาดส่งออกหลักใน ซาอุดิอาระเบีย ,อังกฤษ และปีนี้จะส่งออกไปยังออสเตรเลียมากขึ้น หลังได้คำสั่งซื้อใหม่เข้ามา

โดยล่าสุดที่ได้งานบิ๊กโปรเจ็กต์ของรถยนต์มาสด้า บีที 50 จากประเทศออสเตรเลีย ระยะเวลา 2 ปี มูลค่าราว 150-200 ล้านบาท และมีโอกาสที่จะได้รับงานมาสด้า เป็นไพล็อตโปรเจ็กต์สำหรับเมืองไทยราว 500 คันด้วย ซึ่งน่าจะสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันยังมีคำสั่งซื้อใหม่ในปีนี้ทั้งจากค่ายยุโรป และอื่น ๆ ทำให้ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ราว 700 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ