นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) คาดว่า หุ้น PTT น่าจะเริ่มซื้อขายที่มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ใหม่หุ้นละ 1 บาท ภายในปลายเดือน เม.ย.-ต้น พ.ค.นี้ หากผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนราคาพาร์จากเดิมหุ้นละ 10 บาท ตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอ
ส่วนแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น คาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในช่วงปลายปีนี้และกระจายหุ้นได้ราวกลางปี 62
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปตท.จะแตกพาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นและเปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้ามาลงทุนในหุ้น PTT ได้มากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 12 เม.ย.นี้มีมติอนุมัติแล้ว ก็คาดว่าจะสามารถซื้อขายหุ้น PTT ที่พาร์ใหม่ได้ในช่วงปลายเดือน เม.ย.ถึงพ.ค.นี้
ก่อนหน้านี้สัดส่วนการถือหุ้น PTT ของรายย่อยอยู่ที่ 6-7% แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น PTT อยู่ในช่วงระดับ 300-500 บาท/หุ้นนั้น ทำให้สัดส่วนรายย่อยถือหุ้น PTT ลดลงเหลือระดับ 4% ดังนั้น เชื่อว่าเมื่อซื้อขายบนพาร์ใหม่แล้วสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนรายย่อยก็จะกลับเข้ามาในระดับ 6-7% ได้อีกครั้ง
"เจตนารมย์ที่เป็นบริษัทอย่างปตท. ที่นำมากระจายหุ้นให้ก็อยากให้คนไทยมีโอกาสถือหุ้น ก็อยากให้มีความง่ายต่อผู้ลงทุนเข้ามาถือหุ้น PTT ซึ่งถ้าเทียบราคาที่ 500 บาทต่อหุ้น ก็จะทำให้มีเงิน 5,000 บาท ก็สามารถซื้อหุ้น PTT ได้ จากเดิมที่ต้องใช้เงินถึง 50,000 บาท "นายเทวินทร์ กล่าว
ส่วนแผนการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น คาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งในช่วงปลายปีนี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้เวลาพิจารณาอีกประมาณ 6-8 เดือนจะสามารถกระจายหุ้นได้ โดยคาดว่าจะดำเนินการได้อย่างเร็วในช่วงกลางปี 62 หรือในช่วงครึ่งหลังของปี 62
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปตท.จะรายงานความคืบหน้าการนำหุ้น PTTOR เข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการคัดเลือกทรัพย์สินเพื่อโอนให้กับ PTTOR และมีแนวคิดที่จะพัฒนาแบรนด์ให้กับ PTTOR เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของ PTTOR เองซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสัญลักษณ์เปลวเพลิง และชื่อบริษัท
"เราวางแผนว่าจะโอนทรัพย์สินให้ PTTOR ภายในปีนี้ และยื่นไฟลิ่งขอ IPO ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้"นายเทวินทร์ กล่าว
นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า วันนี้ปตท.ยังได้เข้าโอนหุ้นบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) จากธนาคารออมสิน จำนวน 9.54% มูลค่า 1.38 หมื่นล้านบาท ผ่านการทำรายการบิ๊กล็อต ซึ่งจะทำให้ปตท.ถือหุ้นใน IRPC เพิ่มเป็น 48.05% จากเดิมที่ 38.51% ซึ่งจะเป็นการถือหุ้นในระดับใกล้เคียงกันของบริษัทที่เป็น Flagship ของกลุ่ม ปตท. จากปัจจุบันที่ถือหุ้นใน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) สัดส่วน 48.89% และบมจ.ไทยออยล์ (TOP) ในระดับ 49.10% ซึ่งจะทำให้ปตท.รับรู้กำไรเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นใน IRPC ตั้งแต่ในไตรมาส 1/61
สำหรับทิศทางธุรกิจของ ปตท.ในปีนี้ คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะขยับตัวขึ้นเล็กน้อยจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยประเมินราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ Henry Hub จะอยู่ในช่วง 2.9-3.3 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากระดับ 3.02 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูในปีที่แล้ว ,ราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ประเมินที่ 60-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 53.14 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปีที่แล้ว จากความต้องการใช้ที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอนโอเปก ขณะเดียวกันก็มีกำลังการผลิตจาก Shale oil และ Shale gas เข้ามาด้วย
ส่วนค่าการกลั่น (GRM) อ่อนตัวลงเล็กน้อย โดยประเมินที่ 6.8-7.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 7.09 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปีที่แล้ว แม้ความต้องการใช้สูงขึ้น แต่ก็มีกำลังผลิตใหม่จากจีนและเวียดนามเข้ามาด้วย ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นก็จะกดดันให้มาร์จิ้นอ่อนตัวลง ด้านราคาปิโตรเคมี ในส่วนของราคา HDPE จะสูงขึ้นมาที่ 1,255 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 1,168 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีที่แล้ว
"ภาพรวมปีนี้ driver เหล่านี้ก็มีขึ้นบ้างลงบ้าง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหวือหวาจนจะทำให้น่าเป็นห่วงในเรื่องใดเลย"นายเทวินทร์ กล่าว
ด้านนางนิธิมา เทพวนังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ของ PTT กล่าวว่า ปีที่แล้วปตท.สามารถทำกำไรสุทธิได้ 1.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.9% จากปี 59 โดยในส่วนนี้จากภาพรวมของธุรกิจในกลุ่มที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีรายการพิเศษอีกว่า 7 พันล้านบาท จากการรับเงินปันผลและกำไรจากการจำหน่ายหน่วยลงทุน ได้แก่ หน่วยลงทุนในกองทุนดัชนีพลังงานและปิโตรเคมี (EPIF) และหุ้นบมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ซึ่งในปีนี้ก็จะไม่มีรายการพิเศษดังกล่าว ขณะที่ในส่วนการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ปีนี้ก็คาดว่าจะไม่มากเหมือนปีที่แล้ว ที่บริษัทในกลุ่มตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จำนวนมาก
ส่วนการจัดตั้งบริษัท ปตท.ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTT TCC) นั้นจะช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินในการหาแหล่งเงินลงทุน เนื่องจากรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุน เพราะต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการค้าและการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์เรื่องอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลง และได้รับการยกเว้นภาษีหากมีการกู้เงินในต่างประเทศ เช่น กรณีออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ จากเดิมที่ผู้ออกจะต้องจ่ายภาษีแทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลก็จะยกเว้นการจ่ายภาษีดังกล่าวให้ตลอดสัญญาเงินกู้ ก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ซึ่งในปีนี้ ปตท.ก็มีแผนจะใช้ศูนย์บริหารเงินดังกล่าว เป็นช่องทางดังกล่าวเพื่อบริหารเงินในวงเงินราว 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐ