ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ลงนามสัญญาเงินกู้วงเงิน 235 ล้านเหรียญสหรัฐแก่ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เพื่อลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รองรับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนของกลุ่มประเทศสมาชิก
"การพัฒนาพลังงานทดแทนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนอย่างมากเพื่อให้ตอบสนองทันต่อความต้องการของการใช้พลังงาน โดยบริษัท บี. กริม เพาเวอร์ฯ เป็นผู้นำของภูมิภาคที่มีภาคพลังงานทดแทนเติบโตอย่างรวดเร็ว...เอดีบีภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ อีกครั้ง เพื่อดำเนินกลยุทธ์การขยายธุรกิจของบริษัทต่อไปในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน" Michael Barrow ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภาคเอกชนของเอดีบี กล่าว
ทั้งนี้ การจัดสรรเงินทุนของเอดีบีครั้งนี้เพื่อสนับสนุน BGRIM จะช่วยขยายการผลิตพลังงานทดแทนและระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวที่มีการผลิตและบริโภคไฟฟ้าเบ็ดเสร็จในแต่ละพื้นที่ (distributed power generation) ไปยังตลาดใหม่ ๆ ของอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โครงการดังกล่าวรวมถึงการบริหารและดำเนินงานในระบบการผลิตไฟฟ้าที่มีการผลิตแบบกระจายตัวและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (utility-scale) สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานจากขยะ พลังงานก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการกักเก็บพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบการผลิตแบบการกระจายตัวของ BGRIM คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 หรือเท่ากับ 2,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ซึ่งทำให้สัดส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 30 จากกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัท
ขณะที่เอดีบี ยังได้ลงทุนในหุ้นที่เสนอขายใหม่แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) กว่า 1,968 ล้านบาท (57.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) ของ BGRIM ในเดือนก.ค.60 และเอดีบียังทำหน้าที่บริหารจัดการเงินกู้จำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสนับสนุนโดย Canadian Climate Fund สำหรับภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชียซึ่งอยู่ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อจัดหาเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาด (Clean Energy Financing Partnership Facility)
BGRIM เป็นบริษัทย่อยในเครือของบริษัท บี.กริม กรุ๊ป มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าถึง 1,779 เมกะวัตต์ จากการดำเนินงานในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 13 แห่ง โดยบริษัทยังมีโรงไฟฟ้าอีก 4 แห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาหรือก่อสร้าง ขณะที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งรวมถึง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 15 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง