(เพิ่มเติม) BPP เผยปี 61 ตั้งงบลงทุน 80 ล้านเหรียญฯในโรงไฟฟ้าจีน-ญี่ปุ่นดันกำลังผลิตเพิ่ม 96.5 MW,ศึกษาลงทนในเวียดนาม-อินโด-ไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 23, 2018 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ (BPP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุน (Capex) ในปี 61 จำนวน 80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะแบ่งลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power Plant:CHP) จำนวน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ในญี่ปุ่น จำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ในปี 61 บริษัทจะมีกำลังการผลิตเพิ่มรวม 96.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 52 เมกะวัตต์เทียบเท่าจากส่วนขยายโรงไฟฟ้าหลวนหนานระยะที่ 2 ในจีน และอีก 44.5 เมกะวัตต์จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นจำนวน 3 โครงการ

นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4,300 เมกะวัตต์ ในปี 68 จากปี 61 จะทีกำลังการผลิต 2,164 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกราว 700-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานทดแทน ซึ่งพลังงานทดแทนคาดว่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20%

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม นอกจากนี้ ยังศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซียและไทย รวมทั้งในเอเชียแปซิฟิค อาทิ ในจีน ญี่ปุ่น ที่ยังมีโอกาสต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตามแผนงานของบริษัทในปี 62 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 304 เมกะวัตต์ เป็น 2,468 เมกะวัตต์ , ในปี 63 มีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 2,687 เมกะวัตต์ และในปี 66 จะมีกำลังการผลิตเป็น 2,789 เมกะวัตต์

ขณะที่ นายสุธี กล่าวว่า ในไตรมาส 4/61 โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี หน่วยที่2 ปิดซ่อมบำรุงใหญ่ ระยะเวลา 10 สัปดาห์

ส่วนผลประกอบการปี 60 บริษัทมีกำไรสุทธิรวม 4,155 ล้านบาท สะท้อนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญมาจากโรงไฟฟ้าหงสาที่มีอัตราการจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) กว่า 80% ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้น 88 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แล้ว และอีก 130 เมกะวัตต์ จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่บริษัทฯ ได้สิทธิพัฒนาเพิ่มเติม ตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างมีสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"ผลประกอบการโดยรวมปี 60 สะท้อนศักยภาพของบริษัทฯ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนจากการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจแม้จะหยุดซ่อมบำรุงตามแผน ในขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคืบหน้ามาถึงครึ่งทางสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ 20% ภายในปี 68"นายสุธี กล่าว

ในปี 60 บริษัทมีรายได้รวม 6,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16% ประกอบด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนครบทั้ง 6 แห่งตามแผน จำนวน 659 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ได้แก่ โรงไฟฟ้าหลวนหนาน เจิ้งติ้ง และโจวผิง จำนวน 5,760 ล้านบาท

ขณะที่ ในไตรมาส 4/60 แม้โรงไฟฟ้าในจีนจะได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนถ่านหินที่ปรับสูงขึ้น แต่บริษัทยังคงสามารถบริหารความเสี่ยงและทำกำไรได้จากยอดขายไฟฟ้าและไอน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว

บริษัทมีส่วนแบ่งกำไร 3,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5% ประกอบด้วยส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาจำนวน 2,235 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินทางบัญชีแล้วจำนวน 908 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 28% ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตและจ่ายกระแสไฟได้อย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าหงสา ในขณะที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีรายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,487 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินทางบัญชีแล้วจำนวน 430 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้า 38% ทั้งนี้หากไม่นับผลกระทบจากการแปลงค่าเงิน ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานจะมีจำนวนรวมถึง 5,060 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าทั้งสอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ