บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ตั้งเป้าปี 61 ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น 20-25% จากปีก่อน ขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเติบโตที่ระดับ 40-45% จากปีก่อน รวมถึงบริษัทจะยังคงบริหารต้นทุนสินค้าให้มมีประสิทธิภาพสูงสุด และควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามนโยบาย
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้างบลงทุนที่ 4-5 พันล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในการขยายและปรับปรุงธุรกิจหลัก 3-3.3 พันล้านบาท ธุรกิจ Non-oil ราว 500-700 ล้านบาท และธุรกิจใหม่ 500-1,000 ล้านบาท เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มขององค์กรในระยะยาว
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTG เปิดเผยว่า บริษัทปรับเป้ารายได้ปี 61 เป็น 1.15 แสนล้านบาท จากเดิมคาดไว้ที่ 1.10 แสนล้านบาท เนื่องจากธุรกิจพลังงานเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ ขณะเดียวกันบริษัทมุ่งมั่นขยายธุรกิจ non-oil ให้เติบโตตามไปด้วย
พร้อมตั้งเป้าปี 65 สัดส่วนกำไรสุทธิของบริษัทจากธุรกิจ non-oil จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 60% จากปี 60 อยู่ที่ 9% หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% โดยมองว่าบทบาทธุรกิจ non-oil ที่มีมากขึ้นทุกปี ส่วนเป็นผลจากการสนับสนุนบัตร MAX CARD โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มสาขาร้านกาแฟพันธุ์ไทยเป็น 230 สาขา จากปีก่อน 130 สาขา มีอัตราแก้วต่อวันเติบโตจากยอดขายของสาขาเดิม (same store sales growth) ที่เติบโต 20% ,ร้าน MAX MART เพิ่มเป็น 160 สาขา จากปีก่อน 100 สาขา, ร้าน Pro Truck เป็น 10 สาขา
นอกจากนี้ บริษัทยังสนับสนุนนโยบายให้คนเดินทางมีโอกาสพักผ่อนจากการตั้ง MAX Camp ที่มียอดผู้ใช้วันละ 50-60 ราย ซึ่งภายในแบ่งห้องพักเป็นสำหรับผู้ชาย 14 ห้อง และผู้หญิง 9 ห้อง ผู้ใช้บริการสามารถนอนพักได้ 4 ชั่วโมงต่อครั้งโดยใช้ MAX Card และร้าน Autobacs เพิ่มเป็น 50 สาขา จากปีก่อน 9 สาขา คาดว่าจะมีกำไรได้ภายในปี 62 และในปี 63 คาดจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนในโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตไบโอดีเซลและน้ำมันพืชกำลังการผลิต 6 แสนลิตร/วัน แบ่งเป็นไบโอดีเซล 4.5 แสนลิตร/วัน สามารถเริ่มได้ภายในเดือน มี.ค.61 และโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันสามารถเริ่มรับปาล์มเข้าหีบได้ภายในเดือน เม.ย.61
นอกจากนี้บริษัทตั้งงบลงทุนราว 4-5 พันล้านบาทในการปรับปรุงและขยายธุรกิจ รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์ในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน 600 สาขา ซึ่งคาดว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายจากค่าไฟได้ปีละ 90-100 ล้านบาท จะมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 30 KW/สาขา ซึ่งใช้งบลงทุนทั้งหมด 630 ล้านบาท
นายพิทักษ์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะขยายเข้าไปในธุรกิจแก๊ซหุงต้ม (LPG) ในครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร โดยลักษณะจะเป็นการลงทุนอาจเป็นในรูปแบบการตั้งบริษัทย่อย หรือการร่วมทุน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 200-300 ล้านบาท โดยจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 3/61
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) เกี่ยวกับอาหารและบริการเพิ่มเติม โดยวางงบลงทุนไว้ 500-1,000 ล้านบาท คาดว่าจะชัดเจนอย่างน้อย 1 รายภายในไตรมาส 2/61 และอีกอย่างน้อย 1 รายในไตรมาส 4/61