นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ (26 ก.พ. - 2 มี.ค.) ว่าดัชนีฯ มีทิศทางเดินหน้าต่อแต่มีกรอบจำกัดความเสี่ยงขาลงของตลาดยังมีอยู่ ขณะที่ปัจจัยบวกของตลาดที่ยังมีคือแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งและราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตามสัปดาห์นี้มีปัจจัยหลายตัวที่มีผลต่อดอกเบี้ยส่งผลให้ตลาดอาจมีความผันผวน
ปัจจัยสำคัญที่อาจจมีผลต่อตลาดคือเรื่องความกังวลเรื่องการเลือกตั้งที่กลับมาอีกครั้ง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา สนช. มีมติไม่อนุมัติกกต. ชุดใหม่ ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ ที่จะใช้เวลาอีกประมาณ 155 วัน ณ ปัจจุบันประเด็นดังกล่าวยังม่ส่งผลต่อการยืดเวลาเลือกตั้ง แต่ถ้าหากช่วงเดือน ก.ค. หรือในการเสนอชื่อครั้งต่อไปหากมีการตีตกชื่อคณะกรรมการอีกครั้ง อาจกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้งได้ ขณะเดียวกันการรายงานกำไรบจ. จะจบวันสุดท้ายวันที่ 28 ก.พ. น่าจะมีแรงขายหุ้นหลังงบออก (sell on fact) เป็นเหตุให้เรามองการปรับตัวขึ้นของดัชนีฯจะไปไม่ได้ไกลนัก
ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้ มองว่าดัชนีฯ มีกรอบบนที่ไม่สูงนัก และตลาดจะรู้งบการเงินและการจ่ายเงินปันผลของหุ้นส่วนใหญ่ไปแล้ว นักลงทุนควรพิจารณาการขายหุ้นในกลุ่มที่ผลประกอบการดีแต่ราคาขึ้นมามาก หรือหุ้นที่มีแนวโน้มหรือผลประกอบการดูแย่ลง ในขณะที่การเข้าซื้อหุ้น สัปดาห์นี้ ควรเน้นหุ้นจากปัจจัยเฉพาะตัวมากกว่าและแนะนำเป็นกลุ่มโดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ ได้แก่ AOT , BH, PTTEP , IVL ,CPALL , HMPRO , MINT ส่วนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ได้แก่ RS , WICE และ COM7 ประเมินกรอบดัชนีฯ สัปดาห์นี้ที่ 1,760-1,820 จุด
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามสัปดาห์นี้คือ รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ของสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะออกมาที่ 2.6% ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 3.2% ขณะที่ตลาดยุโรป ติดตามการรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานจากทางเยอรมันและยุโรปในวันที่ 28 และ 1 โดยคาดว่าทางเยอรมันจะรายงานออกมาที่ 5.4% คงที่จากช่วงก่อนหน้ำ และทางยุโรปคาดว่าจะออกมาทรงตัวที่ 8.7% เช่นกัน และการเลือกตั้งในอิตาลีวันที่ 4 นั้นจะสร้างความผันผวนในตลาดระยะสั้น
ด้านเอเชีย ติดตามการรายงานตัวเลข PMI จากทางจีน ในวันที่ 28 และวันที่ 1 โดยคาดว่าตัวเลข NBS PMI จะทรงตัวที่ 51.4 จากช่วงก่อนหน้ำ และตัวเลข Caixin PMI คาดว่าจะออกมาที่ 51.03 ลดลงจากก่อนหน้าที่ 51.5 และไทยจะมีการรายงานอัตราเงินเฟ้อในวันที่ 1 โดยคาดว่าจะออกมาฟื้นตัวที่ 0.8% จากก่อนหน้าที่ 0.68% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวที่ 0.65% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าที่ 0.58%