นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 61 เติบโต 8-10% โดยเป็นการเติบโตตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับปัจจัยหนุนหลักมาจากกาเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อแต่ละประเภทแบ่งเป็น สินเชื่อลูกค้าธุรกิจ ประกอบด้วย สินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ ตั้งเป้าเติบโต 10% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ตั้งเป้าเติบโต 6-8%
ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีธนาคารตั้งเป้าเติบโต 10-12% ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ธนาคารจะเน้นให้มีการเติบโตมากขึ้น หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวลงทำให้ธนาคารไม่เร่งการขยายตัวในสินเชื่อกลุ่มดังกล่าว ด้านสินเชื่อรายย่อยธนาคารตั้งเป้าเติบโต 10% โดยสินเชื่อบ้านยังขยายตัวได้ดีอยู่ แม้ว่าในปีที่ผ่านมาสินเชื่อดังกล่าวจะมีการเติบโตเป็นอย่างมาก
สำหรับแผนธุรกิจประเภทอื่นๆ เช่น เงินฝากในปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 10-12% จากปีก่อนที่ 2.1% และในส่วนของอัตราดอกเบี้ย (NIM) ปีนี้จะรักษาให้อยู่ในระดับ 3.05-3.15% จากปีก่อนที่ 3.13% ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 15-20%
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้ธนาคารจะควบคุมให้อยู่ในระดับ 2.3-2.5% จากปีก่อนที่ 2.35% โดยคุณภาพหนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นมาตั้งแต่สิ้นปีก่อน ซึ่งธนาคารเห็นสัญญาณ NPL ทรงตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 3/60 และในไตรมาส 4/60 ก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ในปีนี้จะรักษาให้อยู่ในกรอบ 140-150% จากปีก่อนที่อยู่ 143% ในขณะที่ credit cost ปีนี้คาดอยู่ในกรอบ 135-145 bps จากปีก่อน 139 bps
"การตั้งสำรองฯจะลดลงเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็น แต่หากคิดเป็นเม็ดเงินคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ธนาคารตั้งสำรองประมาณ 9 พันล้านบาท เนื่องจากธนาคารมีสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายสินเชื่อ ซึ่งทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองฯตามไปด้วย โดยการตั้งสำรองไม่ได้มาจาก NPL ที่เพิ่มขึ้น แต่ธนาคารต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเงินกองทุน"นายปิติ กล่าว
ด้านจำนวนสาขาในปี 61 คาดจะอยู่ที่ 430 สาขา ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปัจจุบัน จากเมื่อ 10 ปีก่อนมีอยู่ 500 สาขา โดยธนาคารไม่มีนโยบายปิดสาขาเพียงแต่ปรับเปลี่ยนสาขาให้มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในอนาคตประเมินว่า 400 สาขาจะเป็นระดับที่เหมาะสมกับจำนวนลูกค้าที่จะเติบโต และช่องทางดิจิทัล
ส่วนความคืบหน้าของ Banking agent นั้น ธนาคารมีความสนใจที่จะร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อในการวางระบบ ซึ่งปัจจุบันธนาคารกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ตรวจสอบอัตลักษณ์หรือการพิสูจน์ตัวตนเพื่อต้องการขยายการบริการถอนเงินสด จากเดิมที่มีแต่รับฝากเงินเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารได้ร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย และธนาคารออมสินมาแล้ว
"เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการศึกษาซึ่งไม่สามารถระบุกรอบเวลาได้อย่างแน่ชัดว่าจะเห็นเมื่อไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ทั้งความปลอดภัยและต้นทุน"นายปิติ กล่าว
สำหรับกระแสข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องถึงการขายหุ้น TMB ของกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นอยู่ 25% หรือ ING ที่ถือหุ้น 25% โดยส่วนตัวไม่ทราบถึงข่าวดังกล่าว และที่ผ่านมาธนาคารก็ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังมาโดยตลอด ซึ่งธนาคารมีหน้าที่ในการทำผลงานให้ออกมาดีเพื่อสะท้อนไปยังผลประกอบการของธนาคาร
นอกจากนี้ ธนาคารได้ประกาศจ่ายปันผลในอัตรา 0.06 บาท/หุ้น ในวันที่ 9 พ.ค. 61 โดยจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งการจ่ายปันผลในอัตราดังกล่าวถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม โดยเชื่อว่าผู้ถือหุ้นจะพอใจ เพราะธนาคารจะต้องเติบโตไปอีกในอนาคต
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ TMB กล่าวเสริมว่า แนวโน้มของสินเชื่อในไตรมาส 1/61 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/60 แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/60 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ โดยสินเชื่อจะกลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 และ ไตรมาส 3 จนไตรมาส 4 จะเห็นสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงสุดของปี ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลความต้องการใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจ และลูกค้ารายย่อย
"3 เดือนแรกอาจจะยังไม่เติบโตมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่จะค่อยๆขยับขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และท้ายปีแบงก์ก็จะเร่งปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้"นายเบญจรงค์ กล่าว
นายเสนาธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชี่อลูกค้าธุรกิจในปี 61 ที่ 10% โดยกลุ่มลูกค้าธุรกิจของธนาคารจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้รวมต่อปีมากกว่า 5 ล้านบาท และกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้รวมต่อปีตั้งแต่ 1 พันล้านบาท ไปจนถึง 5 พันล้านบาท
โดยกลุ่มลูกค้าธุรกิจด้านความต้องการของสินเชื่อยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากความมั่นใจของผู้ประกอบการที่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความชัดเจนของนโบายภาครัฐ ทำให้เริ่มกลับมาลงทุนต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ภาครัฐมีการผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนโครงการในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์และมีความต้องการสินเชื่อมาก คือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเป็นปัจจัยหลักในการขยายตัวของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจของธนาคารในปี 61
ขณะเดียวกันธนาคารยังเน้นการเชื่อมโยงลูกค้าและเครือข่ายคู่ค้าที่เติบโตไปพร้อมกันทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยเข้ามาส่งเสริมในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีด้วย TMB Supply Chain Financing Solution เพื่อผลักดันการเติบโตของลูกค้าทั้งลูกค้าขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีให้เติบโตไปพร้อมกัน และจะส่งเสริมให้ลูกค้าหันมาใช้ช่องทางการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าลดลงและมีความรวดเร็วมากขึ้น ส่วนด้านหนี้เสียของกลุ่มลูกค้าธุรกิจของธนาคารมองว่ายังไม่มีความน่าเป็นห่วง เพราะกลุ่มลูกค้าธุรกิจส่วนใหญ่มีความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงิน ทำให้ลูกค้าธุรกิจไม่ค่อยมีปัญหาในการผิดนัดชำระหนี้
น.ส.เทียนทิพย์ นาราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าเอสเอ็มอี TMB กล่าวว่า ธนาคารได้ตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีปี 61 เติบโต 8% จากยอดสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ ณ สิ้นปี 60 ที่ 9 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มความต้องการสินเชื่อของลูกค้าเอสเอ็มอีในปัจจุบันเป็นลักษณะของการใช้สินเชื่อประเภททุนหมุนเวียน (working cap) เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้มีผลการดำเนินงานที่ลดลง ทำให้ลูกค้าต้องมีการบริหารสภาพคล่องเพื่อทำให้ธุรกิจยังดำเนินไปต่อได้ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการใช้สินเชื่อของลูกค้าในช่วงที่ผ่านมาลดลง และทำให้ธนาคารชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีไป ซึ่งจะเห็นได้จากสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลง
ในปีนี้ธนาคารจะกลับมารุกสินเชื่อเอสเอ็มอีกครั้ง จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้มองว่ามีโอกาสที่ความต้องการสินเชื่อของลูกค้าเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาลงทุนรองรับโอกาสในอนาคต ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสของธนาคารในการเข้าไปรุกตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น ส่วนปัญหาด้านหนี้เสียของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีธนาคารยังมีการควบคุมให้ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยธนาคารยังคงติดตามลูกค้าและให้คำปรึกษาพร้อมกับช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าแนวโน้ม NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีจะทรงตัวในปีนี้
นายรูว์ ไฮซแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้ารายย่อย TMB กล่าวว่า ในปี 61 ธนาคารยังคงมีการเข้าไปแข่งขันในส่วนของสินเชื่อบ้าน แม้ว่าปัจจุบันจะมีการแข่งขันในตลาดสินเชื่อบ้านที่สูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารได้ตั่งเป่าสินเชื่อบ้านในปี 61 เติบโต 14% ซึ่งพอร์ตสินเชื่อรายย่อยที่มีอยู่กว่า 1.4 แสนล้านบาท มีสัดส่วน 80% เป็นสินเชื่อบ้าน และอีก 20% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต
กลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้านที่ธนาคารได้แบ่งไว้มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าทั่วไปที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาท/เดือน และกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีรายได้ตั้งแต่ 100,000 บาท/เดือน ส่วนแนวโน้ม NPL ของสินเชื่อบ้านมองว่าจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเลึกน้อย จากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่ไม่ได้ดีมากนักกระทบต่อลูกค้าบางกลุ่มอยู่ แต่ NPL สินเชื่อบ้านของ TMB ยังถือว่าอยู่ต่ำกว่าตลาด
ด้านธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารยังคงเป็นการให้บริการเสริมแก่ลูกค้า โดยไม่ได้เข้าแข่งขันหรือเน้นการขยายฐานลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตมากนัก โดยปัจจุบันมีลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิต TMB ที่ใช้งานอยู่จำนวน 60,000 บัตร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง คือ ในการยกระดับบริการด้านการลงทุน TMB Advisory ซึ่งคาดว่าจะได้รับความนิยมต่อเนื่องจากลูกค้าอีกหนึ่งปี โดยเป้าหมายในระยะยาวต้องการยกระดับบริการ TMB Advisory เพื่อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความมั่งคั่งและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นเท่าตัวหรือมาอยู่ที่ 500,000 ราย ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ TMB Advisory อยู่ที่ 250,000 ราย โดยธนาคารจะเน้นไปที่การลงทุนในกองทุนรวมเป็นหลัก ซึ่งการให้บริการด้านกองทุนรวมของธนาคารเป็นรูปแบบ Open Architecture ซึ่งสร้างความหลากหลายในการลงทุนผ่านกองทุนรวมให้กับลูกค้า และต้องการให้สัดส่วนของประชากรของไทยมีการลงทุนกับกองทุนรวมเพิ่มขึ้นมากกว่า 5%
ส่วนการเปิดบัญชีเพื่อการทำธุรกรรมโอนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล นายไฮซแมน กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวธนาคารยังต้องทำตามความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ขอความร่วมมือมา ซึ่งธนาคารจะไม่อนุญาตให้มีการเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมดังกล่าว แม้ว่าการเปิดบัญชีจะมีระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าในเบื้องต้น และในส่วนของการทำธุรกรรมธนาคารก็ยังมีระบบที่ติดตามการทำธุรกรรมของบัญชีลูกค้า หากมีการพบความผิดปกติของการทำธุรกรรมระบบจะมีการแจ้งให้ทราบ
"ธนาคารได้มีการติดตามเรื่องดังกล่าว และหากมีบัญชีที่ไว้ไช้ในการโอนซื่อขายสกุลเงินดิจิทัลของลูกค้าที่มาเปิดบัญชีกับธนาคาร ธนาคารก็จะมีการบริหารจัดการตามขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบัญชีที่เปิดกับธนาคารเพื่อนำมาใช้โอนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล"นายไฮซแมน กล่าว