PLT คาดงวดปี 61/62 ปริมาณ-ยอดขายเติบโตเล็กน้อย,เดินหน้าลงทุนขยายกำลังผลิต-มองหาซื่อกิจการต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 26, 2018 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมิต ปรากาซ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL เปิดเผยว่าปริมาณขายและยอดขายปี 61/62 (เม.ย. 61-มี.ค. 62) จะดีกว่างวดปี 60/61 เล็กน้อย เนื่องจากปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตแผ่นฟิลม์ของบริษัทอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราการเติบโตอาจจะไม่ได้สูงเหมือนปีก่อน ขณะเดียวกันปีนี้คาดว่าโรงงานที่ตุรกีจะสามารถกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้เต็มที่ส่งผลให้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มราว 10%

สำหรับงวดปีที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากในเอเชียราว 31% สหรัฐอเมริกา ราว 34% ยุโรป 31% และประเทศอื่นๆราว 4% อย่างใรก็ตาม คาดว่าในงวดปี 63/64 สัดส่วนรายได้จะมาจากในเอเชีย 39% ในสหรัฐอเมริกา 30% และยุโรป 28% และประเทศอื่นๆ 3% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้ในประเทศต่างๆ จะมาจากการจำหน่ายสินค้าที่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อชัดเชยกับสินค้าที่มีมาร์จิ้นต่ำ และเป็นการรักษามาร์จิ้นให้อยู่ในระดับที่ดี

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนสายการผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง ในประเทศอินโดนีเซีย มูลค่าลงทุนประมาณ 95 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 .18 พันล้านบาท โดยคาดว่าการลงทุนโครงกการดังกล่าวจะเริ่มสร้างผลกำไรหลังจากเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ใน 1-2 ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62

พร้อมกันนี้เตรียมลงทุนโครงการสายการผลิตแผ่นฟิล์ม Blown PP ไลน์การผลิตที่ 2 ในประเทศไทย ด้วยงบลงทุน 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในช่วงเดือน มิ.ย.61 นี้ อีกทั้งยังพิจารณาลงทุนโครงการ Saracote ไลน์การผลิตที่ 2 ในประเทศไทย มูลค่าการลงทุน 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มลงทุนในเดือน มิ.ย.62 และยังเตรียมลงทุน Replacement Metallized Film ในสหรัฐอเมริกา มูลค่าการลทุนที่ 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เริ่มลงทุนได้ในเดือน มิ.ย.61

นายอมิต กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังมองหาการเข้าซื้อกิจการต่อเนื่อง โดยจะเน้นบริษัทที่มีผลตอบแทนที่ดี แต่อย่างไรก็ตามหากการเข้าซื้อกิจการนั้นไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดี บริษัทก็ยังจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการใหม่ๆขึ้นเอง เพื่อที่จะให้มีผลตอบแทนที่เหมาะสม ทั้งนี้มองว่าความต้องการแผ่นฟิล์มพลาสติก ในอีก 5 ปีจะสามารถเติบโตได้ 6-7% โดยตลาดหลักที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อน คือ จีน อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ