นายพงษศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บมจ.โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (PPS) เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมกับบริษัท ฟินเทค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เวโลพาร์ค จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ โปรฟิน กรุ๊ป จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนเท่ากัน 33.33% เตรียมเสนอขาย ICO "ProfinCoin" จำนวน 500 โทเคน ราคาโทเคนละ 1 บาท โดยเป็น ICO ประเภทที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset backed) รายแรกของไทย โดยจะใช้สำหรับให้บริการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการก่อสร้างที่มีลูกหนี้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน
โดยคาดว่าจะสามารถเสนอขาย ProfinCoin ระหว่างวันที่ 15-30 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจซื้อโทเคนเข้าลงทุนเบียนและตรวจสอบข้อมูล KYC ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป โดยบริษัทมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจจำนวนมาก เพราะเป็น ICO ที่มีผลตอบแทนรองรับแน่นอน และบริษัทจะเปิดใหมมีการแลกคืนปีละ 2 ครั้ง โดยกฏระเบียการซื้อโทเคนจะเป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ให้นักลงทุนรายย่อยซื้อโทเคนได้สูงสุด 300,000 โทเคน/ราย
ทั้งนี้บริษัทจะคัดเลือกโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุน ICO มาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ เช่น โครงการที่รับจากภาครัฐ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 โดยการที่บริษัทมีเสนอขาย ICO ในครั้งนี้ เพราะมีความสนใจธุรกิจแฟคทอริ่ง และไม่ต้องการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์มาปล่อยกู้ เพราะมีต้นทุนทางการเงิน โดยปัจจุบันการปล่อยกู้ระยะสั้นสำหรับผู้รับเหมา อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 9-20% แต่เมื่อออก ProfinCoin จะทำให้เราไม่มีต้นทุนทางการเงิน ทำให้สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ถูกกว่า เช่น คิดอัตราดอกเบี้ย 8% ทางบริษัทจะคิดค่าธรรมเนียม 3% ที่เหลือจะเป็นผลตอบแทนให้ผู้ถือคอยน์
"ProfinCoin เป็นการเชื่อมโยงธุรกิจสินเชื่อระหว่างนักลงทุนที่ถือคอยน์กับผู้รับเหมา โดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด และมีการแบ่งผลตอบแทนจากให้สินเชื่อ และปัจจุบันนักลงทุนทั่วไปยังไม่มีช่องทางตรงในการลงทุนโครงการก่อสร้างที่น่าสนใจ มีศักยภาพ และเจ้าของโครงการเองก็ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้นทุนการกู้ยืมสูง และต้องรอการอนุมัติเป็นเวลานาน PPS เห็นถึงโอกาสในการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ในการเพิ่มสภาพคล่องและลดอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนเงินทุนระหว่างนักลงทุนและผู้ประกอบการ ซึ่งแต่ละโครงการที่จะนำมาให้นักลงทุนเลือกผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทนั้น จะถูกคัดเลือกและพิจารณาโดย PPS และคณะกรรมการลงทุน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจถึงประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ และผลตอบแทนที่ดี"นายพงศ์ธร กล่าว"
นายธัช ธงภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ PPS เปิดเผยว่า บริษัทมองแนวโน้มธุรกิจที่ปรึกษาด้านงานก่อสร้างในปีนี้มีมิศทางที่ดี ตามการขยายตัวของงานก่อสร้าง ซึ่งจะได้รับปัจจัยหนุนมาจากงานโครงการภาครัฐในปี 61 ที่คาดว่าจะมีการออกมาค่อนข้างมาก หลังจากปีก่อนที่งานโครงการภาครัฐได้ชะลอไป จากกฏระเบียบต่างๆที่ทำให้งานโครงการภาครัฐไม่สามารถเปิดประมูลได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปเจรจาเพื่อรับงานรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเป็นการที่รับจากสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเตรียมเซ็นสัญญารับงานในช่วงเดือนมี.ค.นี้ มูลค่างานหลักสิบล้านบาท
อีกทั้งงานโครงการภาครัฐอื่นๆ โดยเฉพาะงานโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ คาดว่าจะมีการเริ่มเปิดประมูลมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันโครงการที่บริษัทสนใจเข้าไปรับงานที่รอภาครัฐเปิดประมูล คือ โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ เฟส 2 และรถไฟใต้ดินอีก 1 สาย ซึ่งมองว่างานประมูลโครงการภาครัฐต่างๆจะเริ่มทยอยเปิดประมูลตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าไปขยายสัดส่วนงานของภาครัฐให้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าสัดส่วนงานภาครัฐของบริษัทในปีนี้จะเพิ่มเป็น 50% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 30-40%
ด้านงานโครงการของภาคเอกชนมองแนวโน้มงานของธุรกิจค้าปลีกยังมีการขยายโครงการศูนย์การค้าต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทจะมีการเข้าไปรับงานของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น ขณะที่งานของกลุ่มที่อยู่อาศัยมองว่ายังมีงานที่ออกมาไม่มากนัก หลังผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายลดจำนวนการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมลง โดยในภาพรวมของผลการดำเนินงานในปีนี้และในระยะยาวงานโครงการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตขึ้น
ส่วนในปี 61 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ไม่ต่ำกว่า 450 ล้านบาท หรือเติบโต 20% จากปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 10% โดยในส่วนของธุรกิจวิศวกรที่ปรึกษาบริหารโครงการยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทในสิ้นปี 61 ที่มีอยู่ 374 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 63 ขณะเดียวกันบริษัทยังเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ขณะที่ธุรกิจในส่วนอื่นๆ อาทิ งานออกแบบ งานบริหารจัดการอาคารพลังงาน งานบริหารจัดการข้อมูลโครงการ ตลอดจนธุรกิจใหม่ด้าน Project Financing จะเข้ามามีส่วนเสริมการเติบโตอย่างมีศักยภาพของบริษัท พร้อมมั่นใจรายได้ใน 5 ปีข้างหน้าจะทำได้ 1 พันล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี
"ทิศทางการดำเนินงานในปีนี้เรามีแผนปรับโครงสร้างการดำเนินงานจากเดิมที่ดำเนินธุรกิจวิศวกรที่ปรึกษาบริหารโครงการเป็นธุรกิจหลัก สู่การเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการโครงการแบบครบวงจร โดยจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพร้อมให้ข้อมูลตั้งแต่ก่อนก่อสร้างจนถึงก่อสร้างแล้วเสร็จ ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านอาคารพลังงานภายใต้ บริษัท สะพัฒน์ โปรเจค จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการอาคารและอสังหาริมทรัพย์ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้มีการเซ็นสัญญากับลูกค้าทั้งหมด 5 โครงการ เริ่มดำเนินงานและคาดว่าจะรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นไป และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายราย"นายธัช กล่าว