GPSC คาดกำไรปี 61 สูงกว่าปีก่อน,หวังได้กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่จากกลุ่ม PTT ราว 1,000 MW-เดินหน้าตั้ง รง.แบตเตอรี่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 27, 2018 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้ จะดีกว่าระดับ 3.17 พันล้านบาทในปีที่แล้ว หลังจะรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่เริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) 3 แห่งในปีที่ผ่านมาได้เต็มปีนี้ในปีนี้ ส่งผลให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วรวม 1,530 เมกะวัตต์ (MW) รวมทั้งคาดว่าภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปดีลเจรจาซื้อกิจการหรือร่วมทุน (M&A) โรงไฟฟ้าในประเทศที่ COD แล้ว ก็จะสามารถสร้างรับรู้ผลการดำเนินได้ทันที ขณะที่ยืนยันว่าจะสามารถ COD โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือได้ครบ 1,900 เมกะวัตต์ภายในปี 62

พร้อมประกาศยุทธศาสตร์การเติบโตร่วมกับกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เพื่อรองรับการเติบโตในระยะต่อไป โดยเบื้องต้นคาดหวังว่าจะได้กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ตามแผนการขยายงานของกลุ่ม ปตท.อีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการของแต่ละบริษัทในกลุ่มได้ในปีนี้ รวมถึงยังมองความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในเมียนมาและลาว และเตรียมตั้งโรงงานแบตเตอรี่ขนาด 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWH) มูลค่าลงทุนราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ ก่อนจะเริ่มผลิตได้ในปลายปี 62

"โรงงานของกลุ่ม ปตท.จะขยายอีกเยอะ ซึ่งคงไม่มีใคร Supply ไฟฟ้าได้ดีเท่า GPSC ซึ่งเราจะโตไปกับกลุ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลสนับสนนุน และปตท.ก็จะเป็นหัวหอกสำคัญ ซึ่งการเติบโตในประเทศยังเป็นหัวใจหลักของเราอยู่"นายเติมชัย กล่าว

นายเติมชัย กล่าวอีกว่า กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคในปีนี้ จะยังมุ่งเน้นภายในประเทศที่จะรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม ปตท.ซึ่งมีเป้าหมายลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและระบบสาธาณูปโภคที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการของบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่ประกาศออกมานั้น คาดว่าจะต้องการกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ราว 300-400 เมกะวัตต์ และยังมีโครงการอื่น ๆ ในกลุ่มปตท.อีก ทำให้คาดว่าทั้งกลุ่มปตท.น่าจะยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมอีกราว 1,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมจะลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไออน โดยใช้เทคโนโลยี 24M ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ชลบุรี 1 เบื้องต้นจะทำเป็นโรงงานต้นแบบขนาดกำลังผลิต 100 MWH มูลค่าลงทุนราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เทคโนโลยีจากบริษัท 24M Technologies Inc. ของสหรัฐ ซึ่งคิดค้นให้มีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยจะเริ่มผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการใช้ในระบบสายส่ง และพลังงานทดแทน สำหรับในกลุ่ม ปตท.ก่อน เริ่มก่อสร้างในปีนี้และคาดว่าจะผลิตได้ภายในปลายปี 62

สำหรับเงินลงทุนจะใช้เงินสดของบริษัทในการดำเนินงาน เนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยกู้จากสถาบันการเงินเพราะถือว่ายังอยู่ในขั้นทดลอง ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดเข้ามาราว 3-4 พันล้านบาท/ปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปีจากการดำเนินงานและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าได้ตามแผน ซึ่งเงินลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่จะไม่เป็นปัญหาต่อบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในหลังคาอาคารสถานีบริการน้ำมันของกลุ่ม ปตท.ต่อไป หลังจากในปีที่ผ่านมาสามารถดำเนินการได้แล้ว 2-3 แห่ง และมีเป้าหมายจะดำเนินการในปีนี้อีกกว่า 10 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับกลุ่ม ปตท.ด้วย รวมถึงยังอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อป ,เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และพัฒนาระบบการเชื่อมต่อไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี โดยเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการพื้นที่ต้นแบบได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้

ด้านความคืบหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น เฟส 2 ขนาดราว 65 เมกะวัตต์ ในนิคมฯนวนครนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งคาดว่ากระบวนการคัดเลือกจะแล้วเสร็จปีนี้ และใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมฯนวนคร ที่ยังมีความต้องการไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก

ส่วนแผนการลงทุนในต่างประเทศนั้น บริษัทก็ยังวางแผนการลงทุนไปพร้อมกับกลุ่มปตท. และพันธมิตรทางธุรกิจ โดยในเมียนมา เห็นว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนด้านพลังงาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการขนาดเล็กในนิคมอุตสาหกรรม 2-3 แห่งในเมียนมา โดยมีขนาดกำลังการผลิตราว 100 เมกะวัตต์/แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังต้องรอความชัดเจนจากลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯด้วย เพื่อให้ได้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับขั้นต่ำสุดเพื่อมาจัดทำเป็น Business Model ต่อไป

ขณะที่การลงทุนในลาว ปัจจุบันบริษัทร่วมลงทุนใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 (NL1PC) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะเดินเครื่องผลิตในเดือน ก.พ.62 และ ต.ค.62 ตามลำดับ ขณะที่การเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวยังทำให้บริษัทมีความชำนาญและมีองค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อการพัฒนาโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้อีก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างมองโครงการพลังน้ำในลาวเป็นหลัก ซึ่งล่าสุดทาง บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ซึ่งเป็นพันธมิตรในโครงการไซยะบุรี ได้มาชวนให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการพลังน้ำขนาดใหญ่ แห่งใหม่ในลาว โดยบริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนที่มากขึ้นก่อนพิจารณาการลงทุน อีกทั้งยังพิจารณากาลงทุนในส่วนของโครงการโซลาร์ในลาวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ